ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนสิงหาคม 2563 

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง
Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนสิงหาคม 2563            

                      ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ 

            ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือน มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม 2563

รายการข้อคำถาม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 41.60 41.70 41.90
2. รายได้จากการทำงาน 38.10 38.40 38.80
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 46.90 47.20 47.70
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 36.80 37.30 38.50
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 47.00 47.20 47.60
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 38.20 38.30 38.90
7. การออมเงิน 41.70 41.80 41.20
8. ค่าครองชีพ 42.10 42.50 42.70
9. ภาระหนี้สิน 43.30 44.10 44.60
 10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 36.50 36.90 37.20
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 50.60 50.80 51.30
12. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 34.00 33.70 33.20
13. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 35.20 34.90 35.30
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 40.10 40.80 41.30

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง

 

                ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในเดือนสิงหาคมดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ เพราะราคาผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ยางพารา มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนชาวสวนยางพาราคาดหวังว่า ราคาอาจจะถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนช่วยกัน  นอกจากนี้ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ  “เราเที่ยวด้วยกัน” ทำให้แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งภาคใต้ฝั่งอันดามันและอ่าวไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว และทำให้มีการกระจายรายได้สู่แรงงาน สร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับเศรษฐกิจภาคใต้เพิ่มขึ้น  ในขณะที่ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลลดลง ทั้งนี้ เพราะประชาชนในส่วนของภาคธุรกิจมีความกังวล และไม่ค่อยเชื่อมั่นต่อหัวหน้าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ คือ นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์  รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยุคโควิด-19  โดยเฉพาะความสามารถจะสั่งการและควบคุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ให้ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันได้  เพราะหากกระทรวงที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจไม่สามารถทำงานร่วมกันในทิศทางเดียวกันได้  การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ย่อมเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

                จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

  1. นักศึกษาจบใหม่ที่ยังหางานทำไม่ได้ และพนักงานที่ถูกให้ออกจากงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ส่วนหนึ่งต้องการเงินทุนสนับสนุน ซึ่งอาจเป็นเงินช่วยเหลือให้ฟรี เงินกู้ยืมไม่มีดอกเบี้ย หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการประกอบกิจการเล็ก ๆ เพื่อหารายได้ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพในช่วงโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดหนักทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อภาคธุรกิจทำให้การจ้างงงานในหลากหลายสาขาอาชีพมีจำนวนน้อยลงมาก
  2. ผู้ประกอบการในภาคใต้ส่วนหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ ต้องปิดกิจการลงจำนวนมาก โดยเฉพาะในอำเภอหาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของภาคใต้ เนื่องจากเกิดสภาวะที่ธุรกิจถูกทำให้หยุดชะงักในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็ว (Digital Disruption) เนื่องจากผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์จำนวนมากขึ้น ทำให้กิจการในอำเภอหาดใหญ่ อาทิ สันติสุข ตลาดกิมหยง ซึ่งในอดีตเคยเป็นแหล่งช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และเป็นจุดขายของเมืองหาดใหญ่ ปัจจุบันกิจการจำนวนหนึ่งต้องปิดตัวลง และที่เปิดอยู่ก็มียอดขายที่ลดลงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งต้องการสร้างโอกาสในอาชีพใหม่ ๆ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุควิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป  โดยผู้ประกอบการส่วนหนึ่งขอให้ภาครัฐจัดทำโครงการเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจในการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ รวมถึงให้การสนับสนุนเงินทุนเริ่มต้นแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้
  3. ประชาชนภาคใต้เสนอให้ภาครัฐออกนโยบายที่เป็นข้อกำหนดในเรื่องแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดในระยะสั้น  ระยะกลาง และระยะยาวอย่างชัดเจน โดยให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น 1 ปี  ระยะกลาง 3 ปี และระยะยาว 5 ปี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดตนเอง  โดยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดที่จัดทำขึ้นจะต้องดำเนินไปตามแผนจนครบ 5 ปี เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง แม้มีการเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ต้องมาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจนี้ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่งมาจากตัวแทนของภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วนในจังหวัดนั้น ให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงตรวจสอบการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้  หากจะมีการปรับเปลี่ยนแผนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
  4. ประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งมีความกังวลจากระแสข่าวว่า ภาครัฐจะมีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคมนี้  โดยประชาชนมองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19  ในหลายประเทศยังมีจำนวนมาก ทั้งนี้ ไม่อยากให้คนไทยต้องมาเสี่ยงกับโควิด-19  อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องเปิดประเทศเพื่อสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากต่างชาติ ภาครัฐควรมีมาตรการที่รัดกุม และต้องให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชนได้ว่าจะไม่ทำให้ประเทศไทยต้องมาเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 2  เพราะหากเกิดขึ้นจริง ประชาชนมองว่า รัฐบาลไม่มีเงินที่จะมาช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบได้เหมือนที่ผ่านมา
  5. ประชาชนในส่วนของภาคธุรกิจเอกชนมีความกังวลว่า การชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก หากมีความยืดเยื้อและขยายเป็นวงกว้าง อาจส่งผลและตอกย้ำเศรษฐกิจที่ตกต่ำในขณะนี้ให้ทรุดลงไปอีก จึงวอนภาครัฐหาวิธีการในรูปแบบประนีประนอม โดยให้นักวิชาการทำการศึกษาเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และการเข้าไปเจรจาพูดคุยกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษาในแต่ละกลุ่ม ที่เป็นกลุ่มพลังบริสุทธิ์ เพื่อหาทางออกร่วมกัน
  6. นักเรียน และนักศึกษาภาคใต้ส่วนหนึ่งต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษา โดยให้มีการปฏิรูปการศึกษาไทย ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่นักเรียน นักศึกษามากขึ้น  ในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ในสถานศึกษาได้  รวมถึงมีช่องทางให้นักเรียน นักศึกษาสามารถส่งข้อร้องเรียนต่าง ๆ ถึงผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษาฯ เพื่อให้ปัญหาของนักเรียน นักศึกษาที่เป็นความกังวล ความเครียด  ซึ่งถูกเก็บกดมาเป็นระยะเวลายาวนาน ได้รับการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องและเหมาะสม  อีกทั้งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วไม่ตกงาน  และมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพ

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 28.30 และ 22.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 29.60 และ 38.20 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 35.40 35.70 และ 27.60 ตามลำดับ

                 ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 25.20 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 22.60 และ 12.80 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics