“หลีเป๊ะ” แปลว่าอะไร

Spread the love

“หลีเป๊ะ” แปลว่าอะไร ?
 
 
                เกาะหลีเป๊ะ นั้นเริ่มขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อนที่มีชาวเลกลุ่มหนึ่งจากอินโดนีเซีย นามว่า โต๊ะฮีรี เป็นผู้ที่ขึ้นมาบุกเบิกอาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะเป็นคนแรก โดยได้ล่องเรือมากับเพื่อน 5 คนและแวะพักตามเกาะต่างๆ ในแถบนี้
 
                 หลังจากขึ้นบกบนเกาะหลายเกาะแต่กลับเลือกลงหลักปักฐานที่เกาะหลีเป๊ะ เพราะว่าปู่โต๊ะฮีรี เป็นคนที่รอบคอบมาก ได้ทดลองขุดบ่อน้ำบนเกาะทุกเกาะที่แวะพัก ซึ่งพบว่าเกาะหลีเป๊ะนั้นพิเศษกว่าเกาะอื่นๆตรงที่เมื่อขุดบ่อไม่ไกลจากชายหาดก็จะพบน้ำจืดทุกครั้งไป  ปู่โต๊ะฮีรี จึงตัดสินใจอาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ แต่เพื่อนๆต่างก็เดินทางไปตั้งรกรากกันที่เกาะลันตาบ้าง เกาะสิเหร่บ้าง เกาะบุโหลนบ้าง ซึ่งปัจจุบันเกาะเหล่านั้้นยังมีชุมชนชาวเลอาศัยกันอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นต้นตระกูลของพวกอุรักลาโว้ย
 
                  หลังจากนั้นก็มีชาวเกาะต่างๆ อพยพกันมาอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะกันมากขึ้น ผืนแผ่นดินกลางทะเลที่ไร้ผู้คนในอดีตกาล กลับกลายเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวในวันนี้ได้ยังไง เมื่อถึงสมัยยุคล่าอาณานิคมของอังกฤษที่แผ่อิทธิพลมาทางแหลมมลายู เกาะหลีเป๊ะเป็นเกาะสุดขอบชายแดนสยาม เมื่อคราวที่ปู่โต๊ะฮีรีขึ้นบกที่สตูล เจ้าเมืองสตูลในสมัยก่อนได้เรียกให้เข้าพบและมอบพันธุ์มะพร้าวมาให้ปลูกบนเกาะ ซึ่งได้แสดงว่า เกาะหลีเป๊ะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสตูล ประเทศไทย ทำให้เมื่ออังกฤษจะยึดเกาะหลีเป๊ะก็ทำไม่สำเร็จ เพราะเป็นดินแดนของสยามมีหลักฐานความสัมพันธ์ของโต๊ะฮีรีกับเจ้าเมืองสตูล และเมื่อยุคล่าอาณานิคมผ่านไป ปู่โต๊ะฮีรีก็ได้ยกที่ดินหน้าหาดส่วนหนึ่งตั้งเป็นโรงเรียน หลังจากนั้นเมื่อประเทศมาเลเซียที่เพิ่งได้เอกราชจากอังกฤษจะแสดงสิทธิ์เหนือดินแดนเกาะหลีเป๊ะก็ทำไม่ได้ เพราะด้วยหลักฐานมีโรงเรียนตั้งอยู่บนเกาะ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาครอบครัวของโต๊ะฮีรี ได้ตั้งรกรากที่เกาะหลีเป๊ะมาจวบจนถึงวันนี้
 
               บริเวณด้านหลังอันดามันรีสอร์ท หาดชาวเล เป็นสุสานเก่าของตระกูล มีศาลเก่าแก่ของปู่และย่า ส่วนบ้านสีเหลืองหลังใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าหาดเป็นบ้านเก่าแก่ หลังที่ 5 ของตระกูล ในอนาคตมีโครงการจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ บนเกาะด้วย ซึ่งบริเวณหน้าหาดชาวเล เป็นจุดที่โต๊ะฮีรีขึ้นเกาะที่นี้ บริเวณนี้ยังมีต้นมะพร้าวหน้าหาดที่แผ่กิ่งใบให้ร่มเงาแก่นักท่องเที่ยว ชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมของชาวเลคือการลอยเรือ ซึ่งเกาะหลีเป๊ะเป็นต้นฉบับของพิธีลอยเรือแห่งแรก ที่มาของชื่อหาดพัทยาที่คนเข้าใจกันว่ามาจากชื่อ ลมบันดาหยา แต่ที่จริงเป็นชื่อ อ่าวเซปัตตายา ที่โต๊ะฮีรี เรียกซึ่งได้ผิดเพี้ยนเป็นหาดพัทยาจนทุกวันนี้
 
                คำว่า “หลีเป๊ะ” แปลว่า กระดาน หรือ แบนราบ เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวเผ่าอุรักลาโว้ย คนพื้นเมืองเก่าแก่ของเกาะหลีเป๊ะ คือชาวเผ่าอุรักลาโว้ยเป็นชาวเลที่อพยพมาจากมาเลเซียและ อินโดนีเซีย ซึ่งมีวิถีชีวิตเรียบง่ายประกอบอาชีพประมง เมื่อก่อนนี้เกาะหลีเป๊ะเป็นเกาะเงียบๆ ที่ห่างไกลความเจริญ คนบนเกาะจะทำอาชีพประมงเลี้ยงชีพ
CR/เจาะเวลาหาอดีต
Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics