มรภ.สงขลา ยกระดับผลิตกาแฟตามมาตรฐานสินค้าเกษตร หนุนเกษตรกร ต.ทุ่งลาน เพิ่มประสิทธิภาพแปรรูปกาแฟโรบัสต้า

มรภ.สงขลา ยกระดับผลิตกาแฟตามมาตรฐานสินค้าเกษตร หนุนเกษตรกร ต.ทุ่งลาน เพิ่มประสิทธิภาพแปรรูปกาแฟโรบัสต้า
Spread the love

มรภ.สงขลา ยกระดับผลิตกาแฟตามมาตรฐานสินค้าเกษตร หนุนเกษตรกร ต.ทุ่งลาน เพิ่มประสิทธิภาพแปรรูปกาแฟโรบัสต้า
 
 
คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ยกระดับการผลิตกาแฟตามมาตรฐานสินค้าเกษตร หนุนเกษตรกร ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง เพิ่มประสิทธิภาพแปรรูปกาแฟโรบัสต้า วิสาหกิจชุมชนกาแฟเขาวังชิง เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ควบคู่ส่งเสริมจัดการแปลงปลูกด้วยปุ๋ยอินทรีย์เคมี
 
มรภ.สงขลา ยกระดับผลิตกาแฟตามมาตรฐานสินค้าเกษตร หนุนเกษตรกร ต.ทุ่งลาน เพิ่มประสิทธิภาพแปรรูปกาแฟโรบัสต้า
 
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 คณาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา นำโดย ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง ดร.กมลทิพย์ นิคมรัตน์ ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร ผศ.ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล รศ.ดร.ไสว บัวแก้ว และ ว่าที่ร้อยตรีณัฐวุฒิ ขุนหลัด ลงพื้นที่ ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก กิจกรรมส่งเสริมและยกระดับการผลิตกาแฟตามมาตรฐานสินค้าเกษตร (ต.ทุ่งลาน) โดยมี นางอัญชาภัทร์ โพชนุกูล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอคลองหอยโข่ง เข้าร่วมกิจกรรมและให้คำปรึกษาในส่วนของการทำแปลงปลูกกาแฟระบบ GAP (GOOD AGRICULTURAL PRACTICES การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี) เพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูป ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากชุมชน
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟโรบัสต้าแซมในสวนยางพาราและสวนผลไม้มาอย่างต่อเนื่อง วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูป ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์กาแฟโรบัสต้าทุ่งลาน วิสาหกิจชุมชนกาแฟเขาวังชิง และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ซึ่งในครั้งนี้มีแปลงเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟเขาวังชิง ที่สามารถเข้าร่วมประเมินแปลงตามมาตรฐานสินค้าเกษตรและการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับกาแฟ จำนวน 3 แปลงด้วยกัน ได้แก่ แปลงปลูกร่วมไม้ผลของ นายพันธ์ ประพรม แปลงปลูกกาแฟเชิงเดี่ยวของ นายธณกร ประพรม และแปลงปลูกร่วมยางพาราของ นายสมพงค์ กองคิด
 
 
นอกจากนั้น ทีมคณาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตรยังได้เก็บตัวอย่างโรคและแมลงในแปลงปลูกกาแฟ เพื่อนำไปตรวจสอบและประเมินผลในการกำจัดโรคและแมลงให้กับเกษตรกรต่อไป ทั้งนี้ เกษตรกรในพื้นที่ให้ความร่วมมือและจัดการแปลงปลูกโดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เคมีตามหลักการของมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ดี
สำหรับสาระสำคัญของมาตรฐานสินค้าเกษตรในการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับกาแฟมี ข้อกำหนด ดังนี้
1. แหล่งน้ำ น้ำที่ใช้ต้องมาจากแหล่งที่ไม่มีสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุหรือสิ่งที่เป็นอันตราย
2. พื้นที่ปลูก เป็นพื้นที่ที่ไม่มีวัตถุหรือสิ่งที่เป็นอันตรายที่จะทำให้เกิดการตกค้างหรือปนเปื้อนในผลผลิต
3. การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร ผู้ใช้ต้องมีความรู้เรื่องการใช้วัตถุอันตรายที่ถูกต้องและทำตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร หรือตามคำแนะนำในฉลากที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร
4. การจัดการคุณภาพในกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว ไม่ปลูกกาแฟต่างชนิดปะปนกันในแปลงปลูก สำรวจการเข้าทำลายของศัตรูพืช กำจัดส่วนของต้นกาแฟรวมทั้งผลร่วงที่เกิดจากโรค แมลงทำลายออกจากแปลงปลูก
5. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลกาแฟสุกแก่โดยพิจารณาจากสีของผลกาแฟ ภายหลังการเก็บเกี่ยวให้กำจัดผลกาแฟสุกหรือผลแห้งที่ติดค้างบนกิ่งหรือร่วงหล่นใต้ต้นกาแฟออกจากแปลงปลูก นำผลกาแฟไปสู่กระบวนการผลิตกาแฟต่อไป
6. การเก็บรักษาและการขนย้าย สถานที่เก็บต้องถูกสุขลักษณะ ป้องกันความชื้น มีอากาศถ่ายเทสะดวก ภาชนะบรรจุสะอาด มีมาตรการป้องกันศัตรูพืชในโรงเก็บ พาหนะที่ใช้ขนส่งสะอาด มีมาตรการป้องกันความชื้นของเมล็ดกาแฟขณะขนส่ง
7. สุขลักษณะส่วนบุคคล ผู้ปฏิบัติต้องมีความรู้เกี่ยวกับสุขลักษณะที่เหมาะสมหรือผ่านการอบรมการปฏิบัติที่ถูกต้อง และ
8. การบันทึกข้อมูล บันทึกข้อมูลเพื่อให้สามารถตรวจประเมินและตามสอบในระดับฟาร์มได้ เช่นกันการใช้วัตถุอันตราย การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics