ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤษภาคม 2567

Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤษภาคม 2567

            ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

 

        ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤษภาคม 2567 เปรียบเทียบเดือนเมษายน 2567  และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการ เมษายน 2567 พฤษภาคม 2567 คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 29.40 47.20 23.40 29.30 46.10 24.60 36.80 50.20 13.00
2. รายได้จากการทำงาน 27.50 46.90 25.60 27.20 46.50 26.30 39.50 44.40 16.10
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 32.10 47.40 20.50 32.30 46.90 20.80 35.20 47.90 16.90
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 29.90 46.20 23.90 29.50 45.40 25.10 34.80 45.90 19.30
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 27.60 47.50 24.90 27.40 47.40 25.20 35.30 46.20 18.50
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 28.60 47.50 23.90 28.20 47.10 24.70 33.60 46.20 20.20
7. การออมเงิน 27.00 45.10 27.90 26.50 46.10 27.40 34.50 45.10 20.40
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 27.20 45.20 27.60 27.60 45.30 27.10 31.40 47.30 21.30
9. การลดลงของหนี้สิน 27.30 46.40 26.30 27.10 46.20 26.70 37.90 49.30 12.80
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 26.20 45.10 28.70 26.80 45.20 28.00 33.70 50.40 15.90
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 24.30 45.50 30.20 24.60 45.90 29.30 35.70 45.90 18.40
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 26.10 46.20 27.70 26.20 45.20 28.60 39.30 45.20 15.50
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 28.30 47.40 24.30 28.10 46.60 25.30 38.90 44.80 16.30

  

 ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมีนาคม  เมษายน และพฤษภาคม 2567

รายการ 2567
มีนาคม เมษายน พฤษภาคม
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 49.80 50.50 49.40
2. รายได้จากการทำงาน 44.10 44.60 43.90
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 60.10 60.70 60.70
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 50.30 52.10 49.50
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 50.70 51.80 50.30
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 43.40 44.00 43.30
7. การออมเงิน 41.20 41.90 41.10
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 39.10 39.00 39.00
9. การลดลงของหนี้สิน 47.90 47.40 47.20
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 44.00 43.60 43.80
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 38.50 38.20 38.60
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 35.10 35.10 35.00
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 40.80 41.60 41.10
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 45.70 47.50 44.90

 

                ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤษภาคม 2567 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนพฤษภาคม (44.90) ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน  (47.50) และเดือนมีนาคม (45.70) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่  ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม  รายได้จากการทำงาน  รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว  ความสุขในการดำเนินชีวิต  ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย)  การออมเงิน การลดลงของหนี้สิน  การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  โดยปัจจัยลบที่สำคัญ คือ ความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยเฉพาะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนต้องปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยประชาชนส่วนหนึ่งเลือกใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นและมีราคาถูก เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้เหมาะสมกับรายได้ ส่งผลทำให้การบริโภคในประเทศชะลอตัว ทั้งนี้เพราะประชาชนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีกำลังซื้อจำกัด เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชาชนน้อยกว่าค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง   นอกจากนี้ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปส่วนหนึ่งที่ไม่มีภาระหนี้สินก็ยังลดการใช้จ่ายลงเช่นกัน เนื่องจากมองว่าค่าครองชีพในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศยังมีความไม่แน่นอน จึงเก็บออมเงินไว้ เพื่อใช้จ่ายในยามที่จำเป็น ทั้งนี้ ภาครัฐควรออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

               

                ปัจจุบันโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยประชากรที่เป็นผู้สูงอายุเริ่มมีจำนวนที่มากขึ้น ในขณะที่ประชากรที่เป็นวัยแรงงานมีจำนวนน้อยลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรที่เกิดขึ้น ทำให้ภาระในการหารายได้ในครอบครัวไปตกอยู่กับวัยแรงงานที่มีจำนวนน้อยลง ส่งผลต่อรายได้ที่อาจจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครอบครัว  นอกจากนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มุ่งเน้นเกษตรกรรม หากแต่แรงงานในภาคการเกษตรจำนวนมากมีรายได้น้อย โดยมีรายได้เฉลี่ยเพียง 6,975 บาทต่อเดือน ซึ่งนับว่าเป็นรายได้ที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน  ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความกังวล ความคาดหวัง และความต้องการของประชาชน มีดังนี้

  1. 1. ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการต่าง ๆ ทยอยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ประชาชนจึงต้องการให้ภาครัฐควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการที่จำเป็น รวมถึงกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในประเทศให้มากขึ้น โดยต้องการให้ภาครัฐออกโครงการเพื่อช่วยลดค่าครองชีพและกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน  เป็นต้น
  2. 2. ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับความโปร่งใสและความคุ่มค่าของโครงการภาครัฐที่กำลังดำเนินการ ซึ่งเริ่มมีการเบิกจ่ายโครงการงบประมาณแผ่นดิน ปี พ.ศ. 2567 เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ถนน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ  ซึ่งประชาชนมองว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง รวมถึงสุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่น อาทิ การใช้งบประมาณในการรื้อถนนสายเอเชีย และถนนอีกหลายแห่งที่มีสภาพดี เพื่อทำถนนใหม่ ซึ่งนอกจากใช้เงินงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่าแล้ว ยังทำให้การจราจรติดขัด ทั้งนี้ ประชาชนวอนให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และนักการเมืองฝ่ายค้านช่วยตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจร และความเป็นอยู่ของประชาชน
  3. ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่า นโยบายของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ต้องการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และธุรกิจสีเทาที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ออกมาตรการที่จะให้ทางธนาคารทำการระงับการใช้โมบายแบงก์กิ้ง สำหรับผู้ที่มีชื่อบัญชีธนาคารไม่ตรงกับชื่อที่จดทะเบียนซิมโทรศัพท์มือถือ  โดยมาตรการดังกล่าวทำให้ประชาชนที่มีความบกพร่องทางร่ายกายและสุขภาพ รวมถึงผู้สูงวัยที่ไม่สะดวกในการเดินทางได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากประชาชนกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเดินทางไปเปลี่ยนชื่อซิมโทรศัพท์มือถือได้  ในขณะที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์และกลุ่มธุรกิจสีเทาที่ใช้บัญชีม้าในการทำธุรกรรมทางการเงินนั้น ก็ยังสามารถดำเนินการจ้างผู้ที่เปิดบัญชีม้าไว้ก่อนหน้านี้ ให้เปิดซิมโทรศัพท์มือถือใหม่ เพื่อให้ชื่อในหมายเลขโทรศัพท์มือถือตรงกับชื่อบัญชีม้า อีกทั้ง ได้จ้างให้ผู้ที่จะมาเปิดบัญชีม้ารายใหม่ให้ทำการเปิดซิมโทรศัพท์มือถือด้วย  ทั้งนี้ ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่า มาตรการดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาบัญชีม้าได้ แต่กลับเป็นการสร้างปัญหาและความไม่สะดวกให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ใช้โมบายแบ็งก์กิ้ง แต่ใช้เบอร์โทรศัพท์ของญาติ

                ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.80 และ 39.50 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 35.20 และ 34.80 ตามลำดับ ในขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น  คิดเป็นร้อยละ 35.30, 39.30 และ 38.90 ตามลำดับ

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics