สดร. ใช้ดาราศาสตร์​นำร่อง เปิดโลกเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูฏาน

Spread the love

สดร. ใช้ดาราศาสตร์นำร่อง เปิดโลกเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูฏาน

1 สิงหาคม 2561 – กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งราชอาณาจักรไทย ลงนามความร่วมมือกับบริษัทดรุ๊คโฮลดิ้งอินเวสเมนท์ จำกัด แห่งราชอาณาจักรภูฏาน หวังใช้ดาราศาสตร์ เปิดโลกการเรียนรู้วิทยาศาสตร์​และเทคโนโลยีให้ชาวภูฏาน

นายคาร์มา เยเซอร์ เรย์ดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทดรุ๊คโฮลดิ้งอินเวสเมนท์ จำกัด แห่งราชอาณาจักรภูฏาน (ซ้าย)          

ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางดาราศาสตร์กับ ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (ขวา)

ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สดร. เปิดเผยว่า “สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการนำดาราศาสตร์ไปสร้างความตระหนัก และความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในราชอาณาจักรภูฏาน ในเบื้องต้นได้มีการสำรวจสถานที่ พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งหอดูดาว และท้องฟ้าจำลอง ในเมืองต่างๆ  และยังมีการวางแผนจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ทางดาราศาสตร์ในหลายระดับ เช่น การอบรมความรู้เบื้องต้น การเชิงปฏิบัติการดาราศาสตร์สำหรับครูวิทยาศาสตร์ การจัดค่ายดาราศาสตร์สำหรับเยาวชน รวมถึงกิจกรรมสังเกตการณ์ดาราศาสตร์สำหรับประชาชนชาวภูฏาน”

นายคาร์มา เยเซอร์ เรย์ดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทดรุ๊คโฮลดิ้งอินเวสเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลภูฏาน กล่าวว่า “ราชอาณาจักรภูฏานได้ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศภายใต้กรอบการสร้าง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ดำเนินการตามนโยบาย 4 เสาหลัก การบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบยั่งยืน การส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรม และการให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนในชาติด้วยสะเต็ม (STEM : Science, Technology, Mathematics and Engineering) ปัจจุบัน ภูฏานได้รับประโยชน์จากสภาพภูมิประเทศและธรรมชาติที่มีเต็มไปด้วยภูเขา และทรัพยากรธรรมชาติ การนำดาราศาสตร์เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาในประเทศ ทั้งด้านการศึกษา และการท่องเที่ยว จะทำให้ประชาชนชาวภูฏานได้เรียนรู้และพัฒนา ไม่เพียงแต่ในด้านดาราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาในวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย เราได้ศึกษาโมเดลการเผยแพร่ดาราศาสตร์สู่

ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง พบว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติของประเทศไทย มีการดำเนินงานด้านดาราศาสตร์สู่ประชาชนที่โดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการของหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน ที่เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนหลายครั้ง เรามีความประทับใจเป็นอย่างยิ่ง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดการเรียนรู้ดาราศาสตร์อย่างแพร่หลายในภูฏานเช่นเดียวกับที่ประเทศไทย จึงเป็นเหตุให้เกิดการลงนามความร่วมมือทางดาราศาสตร์ของทั้งสองประเทศในวันนี้”

(แถวนั่ง) จากซ้าย นายคาร์มา เยเซอร์ เรย์ดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทดรุ๊คโฮลดิ้งอินเวสเมนท์ จำกัด/ นายยูเก็น เชวัง ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทดรุ๊คโฮลดิ้งอินเวสเมนท์ จำกัด และ ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารบริษัทดรุ๊คโฮลดิ้งอินเวสเมนท์ จำกัด และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สดร. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภูฏานมีข้อได้เปรียบจากสภาพภูมิประเทศที่สูงมาก มีทัศนวิสัยท้องฟ้าที่ดีเยี่ยม นับเป็นทำเลที่ยอดเยี่ยมในการตั้งหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์เพื่อการศึกษาวิจัย ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 3,000 ถึง 4,000 เมตร ในอนาคตอาจจะมีการสำรวจสภาพแวดล้อมเชิงลึกเพื่อศึกษาข้อมูล และความเป็นไปได้ในการตั้งหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ขนาดใหญ่เพื่อการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ขั้นสูงอีกด้วย”

การประชุมความร่วมมือระหว่าง DHI กับ NARIT และการสำรวจพื้นที่การสร้างหอดูดาว และท้องฟ้าจำลอง

ณ เมืองทิมปู และเมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน

แนวโน้มของโลกยุคใหม่คือการทลายกำแพงระหว่างชาติด้วยความรู้ ยิ่งประเทศไทยกำลังจะเดินหน้าประเทศสู่เส้นทางไทยแลนด์ 4.0 แต่เพื่อนบ้านยังไปไม่ถึงไหน เราก็เองก็คงไปได้ไม่ไกล การแบ่งปันโอกาสทางดาราศาสตร์ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยพยุง “เขา” และ “เรา” ให้ก้าวไปด้วยกัน ด้วยภารกิจของ สดร. ในการเป็นศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติด้านดาราศาสตร์ภายใต้ยูเนสโก (ITCA) ที่ช่วยสร้างความตระหนักและกระจายองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างทั่วถึง ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญอย่างยิ่งของ สดร. ในเวทีโลก ดร. ศรัณย์ กล่าวปิดท้าย

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics