สดร. จับมือ อพวช. สร้าง “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” จ.เชียงใหม่

Spread the love

สดร. จับมือ อพวช. สร้าง “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” จ.เชียงใหม่
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งใหม่ในภาคเหนือ
 

          สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) จับมือ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้าง “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งเป้าพัฒนาแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ภูมิภาค กระจายโอกาส สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนและประชาชนในภาคเหนือสนใจใฝ่รู้ในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามนโยบาย “วิทย์สร้างคน” ของกระทรวงวิทย์ฯ หวังสร้างบุคลากรคุณภาพรองรับการพัฒนาประเทศยุคไทยแลนด์ 4.0 คาดพร้อมให้บริการต้นปี 2562

          ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมาในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปะจำปี 2561 ระดับภูมิภาค (ภาคเหนือ) ณ ห้องรสสุคนธ์ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่  ร่วมกันดำเนินการสร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ภายใต้ชื่อ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” (Science Square @ Princess Sirindhorn AstroPark) ภายในบริเวณอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ตำบลดอนแก้ว อำเภอ แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่  เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการแหล่งเรียนรู้สู่ภูมิภาค สร้างแรงบันดาลใจและความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดาราศาสตร์แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่ภาคเหนือตามนโยบาย “วิทย์สร้างคน” รองรับการก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

          ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  กล่าวว่า  ดาราศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนสนใจวิทยาศาสตร์ ประเทศชาติจะพัฒนาได้ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง  โครงการ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” เริ่มต้นจากการที่ อพวช. ต้องการสร้างจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงเกิดเป็นความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น และรู้สึกดีใจที่สดร. และ อพวช. จะร่วมมือกันสร้างสรรค์พื้นที่นิทรรศการภายในอาคารท้องฟ้าจำลอง ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ให้สมบูรณ์มากขึ้น  นอกจากการให้บริการท้องฟ้าจำลองขนาด 180 ที่นั่ง ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยแล้ว เรายังมีส่วนจัดแสดงนิทรรศการดาราศาสตร์ และจะมีนิทรรศการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรม และกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจต่าง ๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนในการประกอบวิชาชีพต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะด้านสะเต็มศึกษา ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติในอนาคต

          ด้าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” จะช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ซึ่งปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี และมีพื้นที่ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร ณ จามจุรีสแควร์เพียงแห่งเดียว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายพื้นที่การให้บริการ เพื่อให้เยาวชนมีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ การร่วมกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ผ่านนิทรรศการการทดลองทำงานจริงและพัฒนา Virtual Museum เพื่อใช้เป็น Application หลักในการนำเสนอ Job of the Future โดยตั้งเป้าผู้เข้าชมนิทรรศการไม่ต่ำกว่าปีละ 240,000 คน  คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณต้นปี 2562  

ภาพจำลองอาคารท้องฟ้าจำลอง อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ภายในประกอบด้วยส่วนท้องฟ้าจำลอง ระบบฟูโดมดิจิทัล ความจุ 180 ที่นั่ง และส่วนจัดแสดงนิทรรศการ

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics