อาจารย์ มรภ.สงขลา คว้ารางวัล Best Paper Award ที่อินโดนีเซีย

Spread the love

อาจารย์ มรภ.สงขลา คว้ารางวัล Best Paper Award ที่อินโดนีเซีย

สุดเจ๋ง ทำวิจัยทำนายการเกิดโรคของผู้สูงอายุด้วยเทคนิคเครื่องจักรเรียนรู้ (Machine Learning)

 

สุดเจ๋ง “ผศ.ดร.ศศลักษณ์ ทองขาว” อาจารย์ มรภ.สงขลา ทำวิจัยทำนายการเกิดโรคประจำตัวของผู้สูงอายุโดยใช้เทคนิคเครื่องจักรเรียนรู้ (Machine Learning) คว้ารางวัล Best Paper Award จากเวทีประชุมวิชาการ ประเทศอินโดนีเซีย เผยผลการศึกษาช่วยผู้ป่วยได้เข้าตรวจรักษาทันท่วงทีขึ้น

ผศ.ดร.ศศลักษณ์ ทองขาว อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลาเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้เข้าร่วมประชุมวิชาการในงาน The 2nd Joint International Conference on Emerging Computing Technology and Sports 2019 (JICETS 2019)  Aston Tropicana Hotel Bandung ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อนำเสนอผลงาน (Oral Presentation) ในหัวข้อเรื่อง “การทำนายการเกิดโรคประจำตัวของผู้สูงอายุโดยใช้เทคนิคเครื่องจักรเรียนรู้” (Prediction Medical Problem of Elderly People by Using Machine Learning Technique) ผลปรากฏว่าได้รับรางวัล Best Paper Award ซึ่งให้เพียงรางวัลเดียวเท่านั้นจากบทความที่ส่งมาทั้งหมดในสาขานี้ โดยคัดเลือกจากบทความที่มีผลกระทบสูงต่อวงการวิชาการ ศาสตราจารย์ที่เป็นกรรมการแจ้งให้ทราบในภายหลังว่า เหตุผลที่เลือกบทความเรื่องนี้เพราะข้อมูลที่ได้น่าเชื่อถือมาก เป็นข้อมูลปฐมภูมิและมีกระบวนการวิจัยที่ดี ทำให้ผลออกมาน่าสนใจมากๆ อยากให้ทำงานนี้ต่อไปเพื่อพัฒนารูปแบบหรือโมเดลให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

ผศ.ดร.ศศลักษณ์ กล่าวว่า บทความนี้เป็นการต่อยอดงานวิจัยที่เกิดจากการบริการวิชาการ ในเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุ โดยข้อมูลที่ได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในหลายอำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีส่วนที่น่าสนใจคือ ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวอยู่บ้าง แต่บางท่านก็ทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัว เพราะไปโรงพยาบาลและมีการตรวจโดยแพทย์ ในขณะที่บางท่านกลับไม่ทราบ ทำให้เกิดคำถามว่าหากเรานำระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า เครื่องจักรเรียนรู้ (Machine Learning) เทคนิคที่นำมาใช้คือต้นไม้ตัดสินใจ (Decision Tree)  มาเรียนรู้ข้อมูลเหล่านี้ก็จะทำให้สามารถทราบได้ว่าผู้สูงอายุท่านนี้น่าจะเป็นโรคประจำตัว ควรจะเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งการได้รับการตรวจรักษาก่อน ก็อาจทำให้อาการของโรคไม่รุนแรง และสามารถจะรักษาให้หายได้ แต่หากละเลยหรือตรวจสอบช้าก็อาจจะรักษาไม่ทันการณ์

อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า งานวิจัยนี้สามารถทำนายการเกิดโรคประจำตัวของผู้สูงอายุก่อนล่วงหน้าได้ ด้วยคำถามที่สำคัญเพียงไม่กี่คำถาม เช่น ผู้สูงอายุมีการศึกษาระดับใด สูบบุหรี่กี่มวนต่อวัน ออกกำลังกายบ้างหรือไม่ ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นคำถามหลักๆ ที่จะทำให้รูปแบบการทำนายสามารถทำนายได้ว่าผู้สูงอายุน่าจะมีโรคประจำตัวและควรไปตรวจให้ละเอียดที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังสามารถช่วยให้สาธารณสุขได้ทราบข้อมูลล่วงหน้าได้ว่าในตำบลที่ดูแลมีผู้สูงอายุที่น่าจะเป็นโรคประจำตัวกี่ท่าน จะได้วางแผนการดูแลงบประมาณได้ถูกต้องด้วย

ทั้งนี้ บทความที่จัดทำขึ้นอธิบายถึงเทคนิคการนำต้นไม้ตัดสินใจ ที่เป็นหนึ่งในเทคนิคเครื่องจักรเรียนรู้ มาใช้สำหรับการจำแนกและการทำนายความเป็นไปได้ของการมีโรคประจำตัวที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุโดยใช้  sklearn ในโปรแกรมภาษาไพธอน (Python) การวิจัยนี้ได้เลือก 16 คุณลักษณะที่ส่งผลต่อการจำแนกการมีโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ จาก 23 คุณสมบัติ และได้เก็บข้อมูลตัวอย่าง 353 ตัวอย่าง จากการสัมภาษณ์ และนำข้อมูลมาปรับเป็นข้อมูลเชิงตัวเลข สามารถจำแนกออกเป็น 2 หมวด คือไม่มีโรคประจำตัว 166 ตัวอย่าง และมีโรคประจำตัว187 ตัวอย่าง โดยมีการทำนายแบบต้นไม้ตัดสินใจเพื่อจำแนกทั้งสองหมวดออกจากกัน จากคุณสมบัติดังกล่าว ประเด็น หรือปัจจัยที่สำคัญในการจำแนกการมีโรคประจำตัวหรือไม่ สามารถจำแนกได้จาก โหนด (Node) โหนดรูทที่สำคัญคือ ระดับการศึกษา สามารถจำแนกได้ตามจำนวนบุหรี่ต่อวันและออกกำลังกายหรือไม่ ค่าความถูกต้องหลังจากลบคุณสมบัติการมีงานอดิเรกออก มีค่าประมาณ 67.80% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับความถูกต้องที่ยอมรับได้ เนื่องจากทำกับข้อมูลจริง แบบปฐมภูมิ บทความนี้ยังแสดงกราฟ ผลลัพธ์ต้นไม้การตัดสินใจโดยใช้ pydotplus และงานวิจัยนี้สามารถปรับปรุงต่อไปในอนาคต โดยหาพารามิเตอร์เพิ่มเติมหรืออัลกอริทึมอื่นๆ เช่น เครือข่ายประสาทเทียม หรือ Support Vector Machine (SVM) เพื่อปรับปรุงความแม่นยำต่อไปได้

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics