ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ดือนมิถุนายน 2564

Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมิถุนายน 2564             

                      ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

 

              ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมิถุนายน เปรียบเทียบ

เดือนพฤษภาคมและคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการข้อคำถาม พฤษภาคม มิถุนายน คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 24.40 46.70 28.90 24.10 46.80 29.10 35.80 52.60 11.60
2. รายได้จากการทำงาน 25.10 47.40 27.50 24.80 47.20 28.00 27.80 58.20 14.00
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 24.40 47.70 27.90 24.80 48.20 27.00 30.20 50.40 19.40
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 35.70 45.30 19.00 34.50 45.10 20.40 32.60 43.70 23.70
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 26.40 47.90 25.70 26.90 47.70 25.40 30.70 48.60 20.70
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 26.90 45.40 27.70 26.60 45.20 28.20 29.70 51.60 18.70
7. การออมเงิน 25.80 46.30 27.90 25.60 45.60 28.80 33.80 48.60 17.60
8. ค่าครองชีพ 32.10 45.60 22.30 32.40 44.70 22.90 35.50 49.90 14.60
9. ภาระหนี้สิน 28.70 49.40 21.90 29.90 48.70 21.40 32.40 50.10 17.50
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 24.60 46.80 28.60 24.40 46.90 28.70 30.10 54.60 15.30
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 28.60 47.40 24.00 28.80 47.60 23.60 32.80 35.70 31.50
12. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 20.50 47.80 31.70 31.40 47.30 21.30 35.60 45.80 18.60
13. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 27.50 48.70 23.80 27.80 48.20 24.00 32.60 39.50 27.90
                       

 

 

 

     ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน 2564

รายการข้อคำถาม เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 42.10 41.70 41.50
2. รายได้จากการทำงาน 38.70 38.50 38.30
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 49.30 49.10 49.40
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 38.70 38.50 38.20
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 47.90 47.60 47.10
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 38.40 38.20 38.10
7. การออมเงิน 41.30 41.00 39.70
8. ค่าครองชีพ 43.60 43.70 43.80
9. ภาระหนี้สิน 47.50 47.80 48.00
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 34.80 34.60 34.50
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 47.90 48.10 48.30
12. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 33.00 32.80 32.60
13. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 36.50 36.70 36.80
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 41.70 40.90 40.10

                ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนมิถุนายน (40.10) ปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน (41.70)  และเดือนพฤษภาคม (40.90) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  โดยปัจจัยลบที่สำคัญมาจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เดือนมิถุนายนที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพของครัวเรือน อีกทั้ง ยังมีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่มีความยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์ ทำให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย และทำกิจกรรมนอกบ้านลดลงหรือไม่ได้ทำเลย อาทิ การท่องเที่ยว การช้อปปิ้ง การซื้อสินค้าจากซุปเปอร์มาร์เกต การรับประทานอาหารที่ร้าน ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าฐานะทางการเงินของครัวเรือนมีแนวโน้มเปราะบาง และยังอยู่ในช่วงระมัดระวังการใช้จ่าย นับแต่นี้จนถึงสิ้นปีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยการฟื้นตัวของภาคส่วนต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนที่เริ่มปูพรมฉีดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา หากอัตราการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ครัวเรือนและธุรกิจให้ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่สิ้นสุด ในขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ ส่งผลให้การออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงมีความจำเป็นเช่นกัน รวมถึงมาตรการภาครัฐที่กำลังจะทยอยออกมา ทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ขณะที่ คาดว่าการเร่งกระจายฉีดวัคซีนจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากเร่งฉีดได้ในปริมาณที่มากพอกับการสร้างความเชื่อมั่นของครัวเรือนและธุรกิจก็จะทำให้ภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่บวกในปีนี้และปีหน้า นอกจากเรื่องของวัคซีนและการควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แล้ว ภาครัฐยังต้องเตรียมรับมือกับอีก 4 โจทย์สำคัญ ได้แก่ ภาระทางการคลัง เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน และต้นทุนธุรกิจที่กำลังเพิ่มขึ้น อันทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น

                นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนเปิดประเทศไทย “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)” ซึ่งมีจังหวัดภูเก็ตที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยเป็นพื้นที่นำร่องในการต้อนรับนักเดินทางจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็ม และแสดงผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป โดยไม่มีการกักตัวแต่ต้องอยู่ในภูเก็ตเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในประเทศ  ประชาชนส่วนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว มองว่า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” จะเป็นจุดเริ่มของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น ในขณะที่ประชาชนบางส่วนมีความคิดเห็นแตกต่างกัน โดยมองว่า ประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก การฉีดวัคซีนยังไม่ทั่วถึง บุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ และเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ของสถานพยาบาลต่าง ๆ เต็มเกือบหมดแล้ว ดังนั้น การเปิดประเทศในช่วงนี้อาจจะเป็นการซ้ำเติมให้การบริหารจัดการโควิด-19 เป็นไปได้ยากขึ้น

                จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

  1. แผนการจัดหาวัคซีนของภาครัฐจาก 100 ล้านโดสในปี 2564 เป็น 150 ล้านโดสในปี 2565 นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นว่าภาครัฐจะทำได้ตามแผน  เนื่องจากประชาชนมองว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ทำงานเชิงรับ และไม่มีประสิทธิภาพ  รวมถึงไม่สามารถที่จะจัดหาวัคซีนได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน  จึงเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ใช้อำนาจแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเปิดโอกาสให้องค์กรเอกชนสามารถจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ได้โดยไม่ต้องผ่านภาครัฐ และให้พลเอกประยุทธ์ จัดประชุมกับองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ เพื่อขอความร่วมมือและความช่วยเหลือจากภาคเอกชนในการช่วยจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด และรวดเร็วที่สุด
  2. สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำเป็นอย่างมาก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอก 2 ช่วงต้นปี 2564 และระลอก 3 ช่วงเดือนเมษายนหลังสงกรานต์ 2564 จนถึงกลางปี 2564 สภาพเศรษฐกิจยิ่งตกต่ำลงเรื่อย ๆ ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ประชาชนมองว่า ภาครัฐบริหารจัดการผิดพลาดเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนภาคใต้ที่เคยนิยมชมชอบพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ กล้าตัดสินใจ และมีความซื่อสัตย์สุจริต แต่บัดนี้ประชาชนเหล่านั้นส่วนหนึ่งเกิดวิกฤติศรัทธาต่อรัฐบาล และพลเอกประยุทธ์เป็นอย่างมาก ในขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งยังคงเชื่อมั่นในตัวพลเอกประยุทธ์ และเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีความซับซ้อน และยากต่อการควบคุมได้ สังเกตได้จากหลาย ๆ ประเทศก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน  อีกทั้ง ยังเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของพลเอกประยุทธ์ ในการช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในทุกภาคส่วน โดยประชาชนเหล่านี้ยังให้กำลังใจพลเอกประยุทธ์ ให้อดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ รวมถึงให้พลเอกประยุทธ์ ยืนหยัดที่จะทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป
  3. ผลการสำรวจในหลายสำนักโพล พบว่า ความนิยมของรัฐบาล และความนิยมพลเอกประยุทธ์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 และ 2 ลดลงอย่างต่อเนื่อง เกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดหลายประการ อาทิ อันดับแรกที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการโควิด-19 ที่ผิดพลาด โดยเฉพาะการสื่อสารที่ล้มเหลว  การจัดหาวัคซีน และฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นอย่างมาก รวมถึงมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น  อันดับสอง การดำเนินโครงการของภาครัฐในหลายโครงการ ขาดความโปร่งใส โดยประชาชนมองว่า มีการรับสินบน และทุจริตในหน้าที่ โดยการเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง จึงเสนอให้พลเอกประยุทธ์ สั่งยกเลิกโครงการฯ ที่ไม่โปร่งใส  ปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ เลือกคณะรัฐมนตรีน้ำดีและมีความรู้ความสามารถ จัดตั้งหน่วยงานที่ตรวจสอบโครงการฯ ของภาครัฐ รวมถึงสรรหาคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถจริง และทำงานเชิงรุกเข้ามาเป็นทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อให้ข้อมูลในการตัดสินใจแก่นายกรัฐมนตรีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

                ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 35.80 และ 27.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 30.20 และ 32.60 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 30.70, 35.60 และ 32.60 ตามลำดับ

                ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ และราคาสินค้า ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ การเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทุกกลุ่ม และจัดหาวัคซีนให้ได้ตามเป้า

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics