สดร. จับมือ จีน พัฒนาขีดความสามารถคนไทยวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจอวกาศเชิงลึก
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จับมือ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ลงนามความร่วมมือวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจอวกาศเชิงลึก ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ เปิดทางนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทยร่วมพัฒนาอุปกรณ์วิจัยในโครงการสำรวจดวงจันทร์ ฉางเอ๋อ-7 หวังพัฒนาขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงด้านอวกาศห้วงลึก ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทย
25 กันยายน 2566 – สาธารณรัฐประชาชนจีน ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และศาสตราจารย์ ดร. กวน เฟิง (Prof. Dr. Guan Feng) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก (Deep Space Exploration Laboratory : DSEL) องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Adminnistration: CNSA) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station) เพื่อร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจอวกาศ ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สนับสนุนอื่น ๆ รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะเชิงวิจัย ด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ และวิศวกรรมดาราศาสตร์เชิงลึก ครอบคลุมถึงการสำรวจอวกาศ สภาพอวกาศ วิทยาศาสตร์ข้อมูล และการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศห้วงลึก นับเป็นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงสุดที่จะสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาบุคลากรในประเทศนั้นๆ ได้ กำลังคนที่มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำเป็นต้องบ่มเพาะด้วยโจทย์ที่ท้าทาย สดร. เล็งเห็นความสำคัญ และมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรโดยใช้โจทย์วิจัยดาราศาสตร์ และเทคโนโลยีอวกาศเป็นแนวทางขับเคลื่อน จึงแสวงหาความร่วมมือกับนานาชาติ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ จนนำมาสู่การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้
ภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรไทย นำโดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกำหนดประเด็นทางวิทยาศาสตร์ที่ท้าทายในการสำรวจทรัพยากรของดวงจันทร์ โดยนำเสนออุปกรณ์วิทยาศาสตร์และวิจัย (Payload) ที่รองรับภารกิจหลักของอวกาศยานฉางเอ๋อ 7 ได้แก่ อุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศระหว่างโลกและดวงจันทร์ ตรวจวัดรังสีคอสมิก และติดตามผลกระทบที่มีต่อโลก (Sino-Thai Sensor Package for Space Weather Global Monitoring) ซึ่งผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ฝ่ายจีนในโครงการฉางเอ๋อ 7 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 7 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่จะติดตั้งไปกับยานดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเชิงวิศวกรรมร่วมกันระหว่างสองประเทศ และทางจีนมีแผนจะส่งไปสำรวจดวงจันทร์ภายในปี ค.ศ. 2026
ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสำรวจสภาพอวกาศ หรืออนุภาคพลังงานสูงในห้วงอวกาศเป็นปัจจัยด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่มีผลกระทบต่อชีวิต และกิจกรรมของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน เช่น พายุสุริยะ ที่ผิวดวงอาทิตย์เกิดการระเบิดลุกจ้า ปลดปล่อยอนุภาคประจุไฟฟ้าออกมาจำนวนมหาศาล ประจุไฟฟ้าที่พุ่งออกมานี้ จะรบกวนระบบดาวเทียม การสื่อสาร สภาพการผลิตพลังงานของเซลล์แสงอาทิตย์ และระบบไฟฟ้าแรงสูง ดังนั้นการศึกษาปัจจัย ตลอดจนแบบจำลอง จะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยด้านสภาพอวกาศได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
โครงการความร่วมมือไทย-จีน ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติในครั้งนี้ จะส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรวิจัยไทยได้มีโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ผ่านการทำงานร่วมกันในการผลิตเครื่องมือตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงในอวกาศ ซึ่งนำไปใช้ในอวกาศได้จริง เพื่อศึกษาปรากฏการณ์และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ข้อมูลที่ได้จะสามารถมาวิเคราะห์ ตั้งสมมติฐานใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงพัฒนาแบบจำลองเพื่อนำมาใช้แจ้งเตือนต่อสาธารณชนได้อย่างแม่นยำ ขณะเดียวกัน ยังได้เรียนรู้และพัฒนาด้านวิศวกรรมระบบอวกาศยานสำหรับการสำรวจอวกาศห้วงลึก อาทิ การออกแบบ ทดสอบภายใต้สภาวะอวกาศยิ่งยวด ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์การออกแบบอุปกรณ์สำหรับการพัฒนาอวกาศยานอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต