สดร. เผยความคืบหน้าโครงการภาคีฯ อวกาศไทย “ดาวเทียมสัญชาติไทย TSC-1”

Spread the love

สดร. เผยความคืบหน้าโครงการภาคีฯ อวกาศไทย “ดาวเทียมสัญชาติไทย TSC-1”


พร้อมเปิดตัวซูเปอร์คอมพิวเตอร์ “ชาละวัน” ระบบประมวลผลข้อมูลวิจัยดาราศาสตร์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยความคืบหน้าโครงการภาคีความร่วมมือพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีอวกาศไทย เริ่มออกแบบระบบทัศนศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อุปกรณ์หลักของดาวเทียม TSC-1 “ดาวเทียมวิจัยฝีมือคนไทยดวงแรก” พร้อมนำเสนอ  “ชาละวัน” ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง สำหรับประมวลผลข้อมูลมหาศาลของงานวิจัยดาราศาสตร์  แก่รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ ในโอกาสเดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของ สดร. ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา

 

                                                 ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รับฟังรายงานความคืบหน้าโครงการภาคีฯ อวกาศไทย และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

 ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า โครงการภาคีความร่วมมือพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีอวกาศไทยเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัย    ดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) – สดร. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) – สทอภ. และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) – สซ. เพื่อสร้างดาวเทียมวิจัยขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม ออกแบบและสร้างโดยทีมวิศวกรและบุคลากรของ 3 หน่วยงาน เป็นการสร้างประสบการณ์การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. รับผิดชอบพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับดาวเทียม สทอภ. รับผิดชอบดำเนินการการส่งดาวเทียมขึ้นไปสู่วงโคจร และ สซ. ออกแบบการทดสอบความทนทานของดาวเทียม  ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการออกแบบระบบทัศนศาสตร์ของกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 ซม. เป็นอุปกรณ์หลักสำคัญของดาวเทียม ซึ่งต้องทนต่อแรงสั่นสะเทือนขณะขนส่งดาวเทียมออกไปนอกโลกและยังสามารถทำงานในอวกาศได้ และนอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์รอง ได้แก่ อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ  สำหรับศึกษาสภาวะ   การเปลี่ยนแปลงสภาพอวกาศที่ใกล้กับชั้นบรรยากาศด้านบนสุดของโลกเราได้   คาดว่าจะสามารถส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้ภายในปี พ.ศ. 2567

 

                                                                             ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รายงานความคืบหน้าโครงการภาคีฯ อวกาศไทย 

            

                                                                                              ดร. อุเทน แสวงวิทย์ นำเสนอโครงการ Big Data ของสดร.

โอกาสเดียวกันนี้ ดร. อุเทน แสวงวิทย์ นักวิจัยชำนาญการ สดร. ได้นำเสนอโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงและระบบศูนย์ข้อมูลงานวิจัยดาราศาสตร์ หรือ Big Data ของ สดร. เนื่องด้วยงานวิจัยดาราศาสตร์ต้องเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาล และใช้ความรู้การคำนวนเชิงสถิติมาช่วยประมวลผล จึงจำเป็นต้องมีระบบที่รองรับความซับซ้อนของข้อมูลต่างๆ เป็นที่มาของการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงชื่อ ชาละวัน (Chalawan Cluster) ช่วยให้การสืบค้นและการวิเคราะห์ต่างๆ ง่ายขึ้น

ระบบดังกล่าวนำมาใช้เก็บข้อมูลงานวิจัยดาราศาสตร์ภายในสถาบันฯ งานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ดำเนินงานวิจัยดาราศาสตร์ภายใต้การดูแลของนักวิจัยจาก สดร.  รวมถึงงานวิจัยด้านวิทยาการข้อมูล วิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น และจะเปิดให้นักวิจัยภายนอกและอาจารย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าใช้ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลสมรรถนะสูงของ สดร. เพื่อดำเนินงานวิจัยด้านดาราศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

ดร. อุเทน กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. มีแผนพัฒนาขีดความสามารถการประมวลผลข้อมูลให้มากขึ้น การพัฒนาดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยและนักศึกษาแล้ว ยังช่วยยกระดับศักยภาพของบุคลากรที่พัฒนาระบบ ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ต่อยอดไปในสาขาอื่น ๆ โดยเฉพาะระบบวิเคราะห์ข้อมูลในภาคธุรกิจ เป็นต้น

ด้าน ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวสรุปถึงการติดตามความคืบหน้าในวันนี้ว่า ดาวเทียมในโครงการภาคีความร่วมมือพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีอวกาศไทย นอกจากจะเป็นดาวเทียมดวงแรกที่คนไทยสร้างเองแล้ว ยังเป็นโครงการที่ช่วยขยายขีดความสามารถของวิศวกรไทย  และเพิ่มความเชื่อมั่นในระดับโลก ถือเป็นอีกโครงการที่น่าติดตาม และจะนำมาซึ่งประโยชน์ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย

ดร.สุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาระบบประมวลผลข้อมูลเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ เป็นการพัฒนาที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ สามารถประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแบบหลักสูตรวิทยาการข้อมูล ซึ่งจะเป็นสาขาที่สำคัญอย่างยิ่งในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ต่อไปอาจผลักดันหลักสูตรด้านนี้ให้เกิดกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อผลิตนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ซึ่งจะเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยต่อไป

 

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics