“ดาวหางจี-แซด” วันเข้าใกล้โลกที่สุด

Spread the love

ดาวหางจีแซดวันเข้าใกล้โลกที่สุด

           สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพ ดาวหางจีแซดบันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเซียรารีโมท รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 มองเห็นนิวเคลียส โคมา และหางฝุ่นของดาวหางอย่างชัดเจน

             ภาพ “ดาวหางจี-แซด” (21P/Giacobini-Zinner หรือ G-Z) บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของ สดร. ติดตั้ง ณ หอดูดาวเซียรารีโมท รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 เวลาประมาณ 17.55 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ก่อนเข้าใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากที่สุดเวลาประมาณ 00.15 น. ในคืนเดียวกัน ปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณกลุ่มดาวสารถี  มีค่าความสว่างปรากฏสูงสุดประมาณแมกนิจูด 7 จึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เพราะความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่ามีค่าประมาณแมกนิจูด 6 ลงไป หากใช้กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กกำลังขยายตั้งแต่ 7 เท่าขึ้นไปช่วยสังเกตการณ์จะเห็นชัดเจนขึ้น ดาวหางจี-แซดจะค่อย ๆ เคลื่อนมาทางทิศตะวันออก เข้าสู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่   และปรากฏให้สังเกตการณ์จนถึงสิ้นเดือนกันยายน ที่น่าติดตามคือดาวหางจะเคลื่อนเข้าใกล้กระจุกดาวเปิด M35 หลังเที่ยงคืนของวันที่ 15 กันยายน 2561 เวลาประมาณ 00.30 น. เป็นต้นไป สังเกตการณ์ได้จนถึงรุ่งเช้า          

            ดาวหางจี-แซด (21P/Giacobini-Zinner หรือ G-Z) เป็นดาวหางคาบสั้น มีคาบการโคจรประมาณ 6.5 ปี ครั้งล่าสุดโคจรมาใกล้โลกเมื่อปี 2555 และจะโคจรกลับมาเข้าใกล้โลกอีกครั้งในปี 2568 แต่ความสว่างปรากฏอาจลดลง เนื่องจากสูญเสียมวลสารเมื่อได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์จนมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ

 

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics