สรุปข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ในพื้นที่ภาคใต้

Spread the love

สรุปข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ในพื้นที่ภาคใต้

ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2560 – 2564) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ ให้  “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” โดยที่ยุทธศาสตร์ที่  1 ระบุให้ “สร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ”  มีกลวิธีการทำงานที่ ค้นหาประชาชนกลุ่มเปราะบางและประชาชนที่เข้าไม่ถึงบริการ เพื่อทราบสถานการณ์ปัญหาและออกแบบการจัดการให้รับรู้สิทธิ และได้รับบริการที่จำเป็น” อันจะนำไปสู่ ยุทธศาสตร์ ที่ 2 คือ การสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานและความเพียงพอของบริการ โดยเฉพาะการจัดหาบริการของกลุ่มเปราะบางให้เพียงพอ สอดคล้อง และเหมาะสม

สปสช.เขต 12 สงขลา ดำเนินการค้นหากลุ่มเปราะบาง โดยกำหนดขอบเขต “กลุ่มเปราะบาง หมายถึง กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามในด้านสุขภาพ ขาดศักยภาพในการจัดการความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจติดตามมา” พบว่า ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ ทั้งในพื้นที่ของ สปสช.เขต 11 สุราษฏร์ธานี และ เขต 12 สงขลา มีกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ และ ได้รับบริการด้านสุขภาพยังอาจไม่เพียงพอ ดังนี้ กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่อาศัยในชุมชนแออัด กลุ่มประมง กลุ่มมานิ (ซาไก) และ ชาวเล ประกอบด้วย มอแกน มอแกลน และ อูรักลาโว้ย (อยู่อาศัยทั้งในภาคใต้ฝั่งอันดามันและอ่าวไทย) ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ สำนักทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนให้มีบัตรประจำตัวประชาชนไปแล้วในบางส่วน  

สรุปข้อมูล กลุ่มมานิ, มันนิ (ชาวป่า/คน)

คนกลุ่มนี้นิยมให้เรียกเขาว่า “มานิ” เพราะแปลว่า คน สำหรับคำว่า “ซาไก” (ซึ่งเป็นคำภาษามลายูที่ใช้เรียกกลุ่มชนพื้นเมืองพวกหนึ่งที่อาศัยอยู่ในตอนกลางของมาเลเซีย) แปลว่า “ทาส ไพร่ ขี้ข้า ผู้อยู่ใต้บังคับ” ไม่นิยมให้เรียก “เซมัง, เซียมัง” เพราะแปลว่า “ลิงหรือค่างแขนดำชนิดหนึ่ง

มานิ กลุ่มที่ใช้ชีวิตในป่าเทือกเขาบรรทัด รอยต่อ จ.พัทลุง จ.สตูล จ.สงขลา และ จ.ตรัง มีประชากรประมาณ 400 คน

1) จังหวัดตรัง ท้องที่ อ. ปะเหลียน จ.ตรัง       ประมาณ 120 คน

2) จังหวัดสตูล ท้องที่อำเภอละงู ทุ่งหว้า ควนโดน และกิ่งอำเภอมะนัง  ประมาณ 130 คน

3) จังหวัดพัทลุง ท้องที่ อ. ป่าบอน ตะโหมด กงหรา ประมาณ 100 คน

4) จังหวัดสงขลา ท้องที่ อ. รัตภูมิ ประมาณ 10 คน

5) ในพื้นที่ป่ารอยต่อ ชุมชนเมือง ประมาณ 40 คน

 

วิถีชีวิตของกลุ่มมานิ 

  1. ที่อยู่อาศัย ชนเผ่ามานิเป็นชนเผ่าที่อยู่อาศัยที่ใดไม่นานเกิน 15 วัน โดยจะอพยพโยกย้ายเมื่อแหล่งอาหารหมด เมื่อสมาชิกในกลุ่มตาย หรือเจ็บป่วยพร้อมกันหลายคน ชาวบ้านพาลูกเขาไปเลี้ยง และเมื่อถูกรบกวน ที่พักอาศัยของกลุ่มมานิจึงถูกปลูกสร้างขึ้นง่ายๆ หลังคามุงด้วยใบไม้ มี 4 ลักษณะ คือ 1) ทับ (ฮายยะ) แบบดั้งเดิม  2) ขนำ แบบกระท่อมไม้ไผ่  3) กระท่อมแบบถาวร และ 4) ทับหน้าถ้ำ
  2. การศึกษา มีเพียงส่วนน้อยที่ได้รับการศึกษาในระบบ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ในกลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน หลายคนที่ได้รับการศึกษาในระบบ เมื่อจบแล้วไม่สามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตคนเมือง ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้ ต้องกลับสู่ป่าและเริ่มต้นเรียนรู้วิถีชีวิตในป่าอีกครั้ง
  3. การรักษาโรค ในอดีตกลุ่มมันนิใช้ยาสมุนไพรที่เก็บจากป่าธรรมชาติมาใช้รักษาโรค ด้วยการต้ม การปิ้ง การฝน และการตำ จำแนกยาเป็น 2  ประเภท  คือ 1) ยาที่ได้จากพืช และ2) ยาที่ได้จากสัตว์  ปัจจุบันสมุนไพรในป่าธรรมชาติหายากขึ้น  ประกอบกับมีความสัมพันธ์กับชาวบ้านมากขึ้น  จึงทำให้รู้จักใช้ยาสำเร็จรูปที่มีขายในตลาดหรือร้านค้า มาใช้แทนยาสมุนไพรที่ปรุงเอง ในกรณีที่รักษาโดยสมุนไพรป่าไม่หายก็ต้องให้ชาวบ้านพาไปโรงพยาบาลของรัฐ (ข้อมูลจาก นายจรูญ ทศกูล)

 

สถานการณ์ปัจจุบัน

  1. แหล่งอาหารลดน้อยลง เช่น หัวมันทราย สัตว์ป่า ลดน้อยลง รวมทั้งเมื่อเจ็บป่วย กลุ่มมานิพึ่งตนเอง ดูแล และรักษาตนเองด้วยสมุนไพรน้อยลง เพราะหาสมุนไพรได้ยากขึ้น ประกอบกับมีอาการอาการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น เช่น ท้องเสีย โลหิตจาง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบุกรุกแผ้วถางป่าบนเทือกเขาบรรทัด : ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้
  2. การไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนหรือการไร้สัญชาติ ส่งผลให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำกัด เช่น การรักษาพยาบาล การเดินทางออกนอกพื้นที่ การได้รับบริการจากรัฐ นอกจากนั้น หากต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการ ก็จะเป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่หน่วยบริการนั้นๆ เนื่องจากมานิไม่มีเงิน ประกอบกับ โรงพยาบาลไม่สามารถเบิกจากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพได้
  3. จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพ วันที่ 5 มกราคม 2561 พบว่า กลุ่มมานิ ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ สตูล ตรัง พัทลุง สงขลา และยะลา ในสายตระกูล 1) ศรีมะนัง 2) รักษ์ละงู 3) ศรีสายทอง 4) รักษ์ป่าบอน และ 5) ศรีธารโต ได้รับการขึ้นทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งสิ้น 125 คน (31.25%) จากจำนวนประมาณ 400 คน (ข้อมูลจำนวนมานิ มาจากเครือข่ายมานิในพื้นที่)

 

แนวทางการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

  1. สนับสนุนนโยบายการดูแลรักษาป้องกันโรคให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต เช่น กลุ่มมานิ สามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ทุกหน่วยบริการในพื้นที่ 4 จังหวัด อันเนื่องจาก กลุ่มมานิมีการอพยพโยกย้ายถิ่นไม่ได้พักอาศัยประจำในที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานานในเทือกเขาบรรทัด ซึ่งมีทางลงในจังหวัดตรัง สตูล สงขลา และพัทลุง
  2. สนับสนุนให้หน่วยงานในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รพ.สต. หรือประชาชนที่เกี่ยวข้อง ใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพื่อการสร้างเสริมป้องกันโรคแก่กลุ่มมานิ เช่น อนามัยแม่และเด็ก โรคระบาดในพื้นที่

 

กลุ่มชาวเล ประกอบด้วย มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย

ปัจจุบันมีชุมชนชาวเล 44 ชุมชน จำนวน 3,450 ครัวเรือน มีประชากรประมาณ 12,309 คน กระจายใน 5 จังหวัดอันดามัน คือ ภูเก็ต 5 ชุมชน พังงา 23 ชุมชน ระนอง 3 ชุมชน กระบี่ 10 ชุมชน และ สตูล 3 ชุมชน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มมอแกน : เป็นกลุ่มชาวเลที่มีวิถีชีวิตหาอยู่หากินกับทะเลมากกว่าบนฝั่ง ส่วนใหญ่ยังสื่อสารกันเป็นภาษามอแกน และอาศัยตามเกาะต่างๆ เช่น เกาะเหลา เกาะสินไห เกาะช้าง และเกาะพยามในจังหวัดระนอง หมู่เกาะสุรินทร์ ในจังหวัดพังงา และบ้านราไวย์ในจังหวัดภูเก็ต มีประชากรกว่า 2,100 คน
  2. กลุ่มมอแกลน : เป็นกลุ่มที่อาศัยตั้งบ้านเรือนชายฝั่งทะเล มีวิถีชีวิตผสมผสานกับสมัยใหม่ เช่น หมู่บ้านชาวเลชายฝั่งทะเลกว่าสิบหมู่บ้านในจังหวัดพังงา ภูเก็ต และ เกาะพระทอง ประชากร 3,700 คน
  3. กลุ่มอูรักลาโว้ย : เป็นชาวเลที่มีภาษาพูดเฉพาะแตกต่างจากมอแกน และมอแกลน เป็นกลุ่มที่อาศัยตามเกาะต่างๆ ในจังหวัดสตูล ภูเก็ตบางส่วน และกระบี่ เช่น เกาะลันตา เกาะพีพี ฯลฯ มีประชากรกว่า 6,200 คน

(ข้อมูลจาก รายงานสถานการณ์ชาวเลปี 2559 จัดทำโดย มูลนิธิชุมชนไท)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อ้างอิงจาก รายงานสถานการณ์ชาวเลปี 2559 จัดทำโดย มูลนิธิชุมชนไท

วิถีชีวิตของกลุ่มชาวเล

  1. การไร้สัญชาติ ชาวเลส่วนน้อยที่มีบัตรประชาชนแล้ว ส่วนใหญ่ถือบัตรเลขศูนย์หรือบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ส่งผลให้มีปัญหาในการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้หากไม่ได้รับการอนุญาต นอกจากนั้นยังอาจถูกตรวจจับในระหว่างเดินทาง ฯลฯ  
  2. ที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำมาหากิน การขาดความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาใหญ่ร่วมกันสำหรับชาวเลส่วนใหญ่ เนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ของเอกชน และบางแห่งก็เป็นอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าชายเลน ฯลฯ  ส่วนทะเลและพื้นที่ชายฝั่งที่จะทำมาหากินและทำประมงได้ก็จำกัดลง ประกอบกับทรัพยากรทางทะเลลดน้อยลง
  3. ภาษาที่ใช้ ชาวเลมีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียนหรือการบันทึกโดยตัวอักษร ปัจจุบัน คนกลุ่มนี้ซึมซับวัฒนธรรมและภาษาไทยมากขึ้น เนื่องจากมีการตั้งถิ่นฐานถาวร เด็กๆเข้าโรงเรียนมากขึ้น จึงอาจพบการสื่อสารพูดคุยกันในครอบครัวด้วยการใช้ภาษาไทยเป็นหลัก
  4. การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม เนื่องจากชาวเลเปลี่ยนจากการทำมาหากินทางทะเลมาเป็นการตั้งหลักแหล่งอย่างกึ่งถาวรหรือถาวร ทำงานแบบรับจ้างรายวัน ทำงานการท่องเที่ยว  มีการรับเอาวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการกิน การแต่งกาย เครื่องใช้ สิ่งอำนวยความสะดวก การติดอบายมุข และสุรา  ฯลฯ 

 

สถานการณ์สุขภาพของชาวเล (ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่สปสช.เขต 12 สงขลา และศึกษาดูงาน ในพื้นที่สปสช.เขต 11 สุราษฏร์ธานี)

  1. การไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนส่งผลให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วยตนเอง จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพ วันที่ 5 มกราคม 2561 พบว่า กลุ่มชาวเล ในสายตระกูล 1) หาญทะเล 2) กล้าทะเล 3) ประมงกิจ และ 4) ประโมงกิจ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งสิ้น 4,229 คน (34.36%) จากจำนวนประมาณ 12,309 คน (ข้อมูลจำนวนชาวเลจาก รายงานสถานการณ์ชาวเลปี 2559 โดย มูลนิธิชุมชนไท)
  2. การสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยบริการปฐมภูมิยังไม่สามารถทำงานเชิงรุกได้ครอบคลุม เนื่องมาจาก ที่อยู่อาศัยของชาวเลเป็นสถานที่ท่องเที่ยวจึงมีประชากรแฝง แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ส่งผลให้ หน่วยบริการไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ แพทย์ และบุคลากรไม่มีเวลาทำงานเชิงรุกได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นเกาะ
  3. ปัญหาด้านสุขภาพของชาวเลส่วนใหญ่ เป็นเบาหวาน ความดัน และมะเร็ง อาจเกิดจากพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น การเร่งรีบทำงานจนละเลยการดูแลตนเอง พฤติกรรมการบริโภค และการออกกำลังกาย
  4. พบปัญหาพยาธิในกลุ่มชาวเล รวมทั้งโรคติดต่อหรือโรคระบาดต่างๆ เช่น ไข้เลือดออก มาเลเรีย และอุจาระร่วง รวมทั้งวัณโรค เนื่องจากอยู่ในพื้นที่แออัด มีปัญหาระบบสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และส้วมไม่เพียงพอ
  5. มีปัญหาด้านสภาพแวดล้อม เช่น น้ำไม่สะอาด น้ำขัง มีขยะจำนวนมาก เนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และมีปัญหาเรื่องการครอบครองที่ดินเพราะพื้นที่อยู่อาศัยของชาวเลโดยมากมีเอกชนอ้างสิทธิเป็นเจ้าของ มีการสร้างกำแพงปิดกั้น ส่งผลให้ขยะตกค้าง น้ำท่วมบริเวณที่อยู่อาศัย
  6. พบโรคติดต่อหรือโรคระบาดต่างๆ เนื่องจากชาวเลบางกลุ่มพักอยู่อาศัยในที่ที่แออัด
  7. มีปัญหาเรื่อง “โรคน้ำหนีบ” ซึ่งเป็นโรคจากการประกอบอาชีพที่เกิดจากการดำน้ำลึกเพื่อจับอาหารทะเล โดยไม่มีอุปกรณ์

 

แนวทางการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

  1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้มีการดำเนินงานส่งเสริมป้องกันโรค รวมทั้งการรณรงค์เรื่องการดื่มเหล้าและอบายมุข
  2. ภาคประชาชนควรดำเนินงานเพื่อส่งเสริมป้องกันโรค การสนับสนุนการลดโรคเรื้อรัง การออกกำลังกาย การลดละเลิกบุหรี่เครื่องดื่มมึนเมา โดยของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
  3. ในการสนับสนุนให้ภาคประชาชนเขียนเสนอโครงการนั้น ควรจัดให้มีผู้บริหารท้องถิ่น ประชาชน และคนกลาง มาหารือร่วมกันเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้น
  4. สนับสนุนเครื่องรักษาน้ำหนีบ (Hyperbaric Chamber) เพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันมีเครื่องรักษาโรคน้ำหนีบเพียงแห่งเดียว คือ รพ.วชิระ ภูเก็ต และการเดินทางไปรักษาที่ภูเก็ตต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งมีค่าครองชีพสูง (เป็นข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นของ สปสช.เขต 12 สงขลา)

 

…………………………………………………………………………………..

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics