สปสช.ดึงเครือข่าย มานิ ชาวเล ให้ข้อเสนอพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

Spread the love

สปสช.ดึงเครือข่าย มานิ ชาวเล ให้ข้อเสนอพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 

8 มกราคม 2561 : สปสช.เขต 12 สงขลา นำโดย ดร.ทพ.วิรัตน์  เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ และ สปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานี นำโดย นพ.อนุสรณ์ ศิริโชติ ผู้อำนวยการ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานเพื่อการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบาง มานิ และ ชาวเล โดยเชิญหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดเป็นแนวทางการทำงานร่วมกัน มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า 50 คน จาก 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่พังงา สุราษฏร์ธานี ตรัง สตูล พัทลุง และสงขลา ประกอบด้วย ผู้ให้บริการ, ผู้แทนของ ชาวมานิ ชาวเล, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง นักวิชาการ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมี นพ.ประจักษวิช  เล็บนาค  รองเลขาธิการ สปสช.เป็นประธานเปิดงาน

นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า “การจัดประชุมครั้งนี้ เป็นการทำงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2560 – 2564) ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ ให้  “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานและความเพียงพอของบริการสุขภาพ ซึ่งในขณะนี้ยังมีประชากรกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาด้านการเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ ได้แก่ กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่อาศัยในชุมชนแออัด คนไร้บ้าน กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มมานิ (ซาไก) และ ชาวเล  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวมานิ และชาวเล ถึงแม้จะเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยมานานแล้วก็ตาม แต่มีอีกหลายคนที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้เสียโอกาสในการได้รับสวัสดิการต่างๆที่รัฐจัดให้ รวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยเช่นเดียวกัน  ในวันนี้ จึงเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้มาร่วมกันกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน อาทิ เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พมจ. นักวิชาการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่ร่วมกันจัดการให้ประชากรชาวมานิ และชาวเล ได้รับบัตรประจำตัวประชาชน และสวัสดิการต่างๆที่รัฐจัดให้, สปสช. หน่วยบริการสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่จัดระบบบริการสุขภาพให้สามารถเข้าถึงได้เพียงพอ และเหมาะสมกับวิถีชีวิตของประชากรแต่ละกลุ่ม โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น”

 

ข้อเสนอแนะจากที่ประชุมในประเด็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพชาวมานิ ดังนี้

1) ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการดูแลสุขภาพเบื้องต้น การใช้สิทธิรักษาพยาบาล

2)พัฒนาศักยภาพของชาวมานิ เป็น อสม. เพื่อเป็นผู้ดูแลแต่ละครอบครัว และเป็นแกนนำในการสื่อสารกับหน่วยบริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3) สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับหน่วยบริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยจัดบริการที่ตรงตามความต้องการและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมานิแต่ละพื้นที่

4) ให้ชาวมานิสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีการส่งตัว เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่มานิจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ตามห่วงโซ่อาหาร

5) พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อเชื่อมต่อการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามกรณีมีการย้ายที่อยู่ของชาวมานิ

6) ควรมีหน่วยงานหรือกลไกที่เชื่อมต่อหรือประสานระหว่างชาวมานิและหน่วยบริการสุขภาพ

7) ใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่จัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุกให้แก่ชาวมานิ 8) บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

 

ข้อเสนอแนะจากที่ประชุมในประเด็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพชาวเล ดังนี้

1) สนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการรักษาพยาบาล ร่วมกับการดูแลด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน

2) ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการดูแลสุขภาพเบื้องต้น และการใช้สิทธิรักษาพยาบาล

3) พัฒนาศักยภาพของชาวเล เป็น อสม. เพื่อเป็นผู้ดูแลชุมชน และมีศูนย์ประสานงานทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับหน่วยบริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4) มีอาสาสมัครในชุมชนที่เป็นคนกลางและชาวเลให้ความไว้วางใจ เป็นผู้ประสานหรือเชื่อมต่อระหว่างชาวเลกับหน่วยบริการสุขภาพ

5) จัดทำฐานข้อมูลด้านสุขภาพของชาวเล เพื่อใช้ในการวางแผนการจัดบริการสุขภาพและเชื่อมต่อการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง….

   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics