ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน 2566               

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน 2566               
Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน 2566               

                      ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

 

              ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน 2566 เปรียบเทียบเดือนมีนาคม 2566 และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการข้อคำถาม มีนาคม 2566 เมษายน 2566 คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 28.90 47.20 23.90 29.20 47.50 23.30 36.20 47.60 16.20
2. รายได้จากการทำงาน 28.60 47.10 24.30 28.70 47.60 23.70 36.70 51.30 12.00
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 28.80 47.80 23.80 29.50 48.50 22.00 32.60 39.50 27.90
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 27.30 45.90 26.80 28.60 44.20 27.20 37.80 47.50 14.70
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 27.70 47.60 24.70 27.90 48.60 23.50 36.80 48.60 14.60
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 26.50 48.10 28.40 26.30 48.90 24.80 34.70 51.70 13.60
7. การออมเงิน 26.40 48.40 25.20 26.70 48.80 24.50 32.80 54.10 13.10
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 28.70 46.90 24.40 28.40 45.80 25.80 39.70 45.10 15.20
9. การลดลงของหนี้สิน 28.80 48.70 22.50 28.60 49.40 22.00 35.60 51.30 13.10
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 26.90 47.10 26.00 27.20 47.70 25.10 30.40 48.90 20.70
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 26.40 43.20 30.40 26.20 42.90 30.90 34.60 45.20 20.20
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 27.20 44.50 28.30 27.50 45.60 26.90 33.40 46.30 20.30
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 29.70 47.20 23.10 29.90 47.10 23.00 32.30 44.30 23.40
                       

 

 ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน 2566

รายการข้อคำถาม 2566
กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 48.70 48.90 49.30
2. รายได้จากการทำงาน 43.80 44.10 44.20
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 57.90 58.00 58.60
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 49.10 49.30 49.80
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 50.10 50.40 50.70
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 42.40 42.70 42.90
7. การออมเงิน 41.00 41.20 41.30
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 39.90 40.00 39.70
9. การลดลงของหนี้สิน 48.10 48.20 48.20
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 44.20 44.30 44.40
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 40.40 40.30 40.10
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 35.30 35.20 35.20
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 35.20 36.10 36.30
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 44.80 45.10 45.80

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน 2566               

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนเมษายน 2566 (45.80)  ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 (45.10)  และเดือนกุมภาพันธ์ 2566 (44.80) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครอบครัว  รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว  ความสุขในการดำเนินชีวิต  ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่  การเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์  โดยในปีนี้ได้มีการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของแต่ละพื้นที่ในการจัดงานเทศกาลสงกรานต์อย่างเต็มรูปแบบ ภายในงานมีการจัดกิจกรรม ต่าง ๆ เช่น การจัดแสดงดนตรี การเล่นน้ำสงกรานต์ และการจัดแสดงสินค้า  เป็นต้น  โดยเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีความคึกคัก และมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก โดยมีการประเมินการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มากถึง 2.3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนปี้นี้ นอกจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสงกรานต์แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเพิ่มขึ้น  อีกทั้ง สินค้าจำนวนหนึ่งมีการปรับราคาขึ้นในช่วงสงกรานต์นี้  โดยเฉพาะค่าอาหารต่าง ๆ ได้ปรับราคาสูงขึ้น โดยทางผู้ประกอบการให้เหตุผลว่า ราคาวัตถุดิบมีการขยับสูงขึ้นตามสภาพอากาศที่ร้อนจัด เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดน้อยลง ทำให้ธุรกิจร้านอาหารมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ตู้แช่เพื่อเก็บวัตถุดิบต่าง ๆ เนื่องจากอากาศที่ร้อนมากในช่วงนี้  โดยประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าช่วงเดือนเมษายนนี้ค่าครองชีพสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีก  ในขณะที่รายได้ของประชาชนเท่าเดิม  ทั้งนี้ ประชาชนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางจำเป็นต้องปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ รวมถึงมีความคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่ายของประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และไม่ก่อหนี้ครัวเรือนขึ้นอีก

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความคาดหวังและความต้องการของประชาชนต่อนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม  มีดังนี้

  1. ความต้องการของประชาชนต่อโนบายด้านพลังงาน  สืบเนื่องจากค่าพลังงานต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้  โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าของครัวเรือนในเดือนเมษายนนี้ มีการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นอย่างมาก  และมีแนวโน้มที่ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต  ทั้งนี้ ประชาชนจึงมีความต้องการให้รัฐบาลใหม่ช่วยแก้ปัญหาพลังงานอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าในบ้านที่เพิ่มขึ้น  เช่น  การส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งระบบไฟฟ้าบนหลังคาบ้าน (Solar Rooftop) เพื่อลดค่าไฟฟ้า และสามารถนำไฟฟ้าส่วนเกินขายคืนให้แก่ภาครัฐได้   อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังว่า รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องเข้ามารีบแก้ไขค่าไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน  อาทิ  การลดค่าไฟฟ้า  การลดค่า FT และการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ประชาชน  เป็นต้น
  2. ความต้องการของประชาชนต่อนโยบายด้านคมนาคมขนส่ง เช่น การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล  รถขนส่งสินค้า และรถโดยสารสาธารณะ ฯลฯ  เพื่อลดการปล่อยมลพิษของยานพาหนะ  อีกทั้ง ปรับปรุงคุณภาพของรถโดยสารสาธารณะ และกำหนดค่าบริการที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ประชาชนที่มีรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลางสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้มากขึ้น
  3.   ความต้องการของประชาชต่อนโยบายด้านการเกษตร  เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ และปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ทำให้พืชผลทางการเกษตรมีจำนวนน้อย ประกอบกับราคาปุ๋ย และวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้บางช่วง เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น  โดยต้องการให้มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่ยั่งยืน และให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้  ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร อีกทั้งช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากร และช่วยลดปัญหาการสร้างก๊าซเรือนกระจก  นอกจากนี้ ควรปรับโครงสร้างหนี้  การให้สินเชื่อที่สอดคล้องกับศักยภาพ และกระแสรายได้ รวมถึงพฤติกรรมของเกษตรกร โดยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสินเชื่อเกษตรกรที่ครอบคลุมและทันสมัย
  4. ความต้องการของประชาชนต่อนโยบายด้านแรงงาน  โดยนโยบายด้านแรงงานของพรรคการเมืองส่วนใหญ่เน้นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งแข่งขันกันว่าพรรคใดจะเสนอค่าจ้างขั้นต่ำได้สูงกว่ากัน  ทั้งนี้ ประชาชนมองว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องสอดคล้องกับความสามารถของแรงงานในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจได้  โดยภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME และธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ในการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อเพิ่มผลผลิต และลดความสูญเสียให้น้อยลง รวมถึงการส่งเสริมทางด้านการตลาด โดยเฉพาะการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศ และการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ  อันจะทำให้ผลประกอบการของธุรกิจดีขึ้น จนสามารถนำส่วนต่างของผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นไปเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานได้อย่างเหมาะสม

                นอกจากนี้ ประชาชนต้องการให้นโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ควรพิจารณาการใช้งบประมาณของประเทศอย่างเหมาะสม  และควรกำหนดนโยบายที่สามารถทำได้จริง และสามารถทำได้ทันที ไม่ให้เป็นเพียงนโยบายเพื่อหาเสียงเท่านั้น  โดยประชาชนมีความคาดหวังว่า นโยบายในการหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ เมื่อดำเนินการแล้วจะไม่สร้างปัญหาใหม่ให้กับประเทศ  นอกจากนี้ ประชาชนมีความกังวลต่อนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน โดยมองว่าพรรคการเมืองหลายพรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล และจะใช้นโยบายของพรรคใดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม  ทั้งนี้ ประชาชนคาดหวังว่า รัฐบาลใหม่จะนำนโยบายที่ให้ความสำคัญและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ มากกว่ากลุ่มทุนและกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มพวกพ้อง และเครือญาติของนักการเมือง

                ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.20 และ 36.70  ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็น ร้อยละ 32.60 และ 37.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.80 33.40 และ 32.30 ตามลำดับ

                สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ และต้องการให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ        1) การช่วยลดค่าไฟฟ้า และรักษาระดับราคาพลังงานต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม   2) การช่วยเหลือภาระหนี้สินแก่กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการขนาดเล็ก  3) การเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ   และ 4) การให้งบประมาณช่วยเหลือประชาชนในการนำพลังงานทดแทนเข้ามาใช้

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics