ทำไมต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มที่ภาคใต้

Spread the love

ทำไมต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มที่ภาคใต้

ก่อนตอบคำถามนี้คงต้องย้อนไปดูสถานการณ์ด้านการผลิตไฟฟ้าของไทยว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร อย่างที่ทราบกันดี ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก โดยมีอัตราส่วนสูงถึง 69% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด รองลงไปก็คือถ่านหินประมาณ 19-20% และตามมาด้วยพลังงานหมุนเวียน เช่น น้ำ ลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล 5% และซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีก 7%

พลังงานแต่ละชนิดที่เรานำมาผลิตไฟฟ้าล้วนแล้วแต่มีข้อดีและข้อด้อยต่างกันออกไป

ก๊าซธรรมชาติมีข้อดีตรงที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศ ราคาไม่สูงมาก และเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด ปลดปล่อยมลภาวะต่ำ แต่ก็มีข้อด้อยตรงที่ปริมาณสำรองก๊าซของเรามีไม่มากนัก การสำรวจเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองยังมีความไม่แน่นอนสูง ในขณะที่ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณสำรองที่มีอยู่จึงอาจหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว และต้องหันไปนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น ในราคาที่แพงขึ้น ทำให้เรามีความเสี่ยงในการพึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดเดียวมากจนเกินไป สูญเสียความมั่นคงด้านพลังงาน และราคาค่าไฟฟ้าก็จะแพงขึ้นด้วย

ถ่านหินมีข้อดีตรงที่ปริมาณสำรองทั่วโลกมีสูงมาก ใช้ได้อีกเป็นร้อยปี ต้นทุนต่ำ ราคาไม่ผันผวนมากเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่น การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงออกไป แทนที่จะพึ่งพาเชื้อเพลิงเพียงตัวใดตัวหนึ่ง และยังเป็นการเฉลี่ยต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าให้ต่ำลงอีกด้วย แต่ถ่านหินก็มีข้อด้อยในเรื่องของการปลดปล่อยมลภาวะ ซึ่งต้องแก้ไขด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินรุ่นใหม่มีความ ”สะอาด” มากขึ้น

พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่กำลังอยู่ในกระแสความนิยม และได้ชื่อว่าเป็นพลังงานสะอาด เพราะไม่ได้ปลดปล่อยมลภาวะสู่ชั้นบรรยากาศเลย แต่การใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น กำลังการผลิต พื้นที่การผลิต ต้นทุนการผลิต ความต่อเนื่องในการผลิต ฯลฯ ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้คงต้องใช้เวลาและเทคโนโลยีในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้สามารถแข่งขันกับพลังงานชนิดอื่นได้

ส่วนการซื้อพลังงานจากต่างประเทศนั้น แน่นอนว่าข้อดีคือความสะดวกและเราไม่ต้องลงทุนเอง ไม่ต้องเสี่ยงในเรื่องของมลภาวะหรือความขัดแย้งของคนในสังคม แต่ข้อด้อยก็คือความมั่นคงด้านพลังงานที่ลดลง เพราะเราไปขอยืมจมูกคนอื่นหายใจ มีความเสี่ยงสูงขึ้น ราคาค่าไฟแพงขึ้น และเรื่องมลภาวะก็อาจหนีไม่พ้น เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านมีเขตแดนติดกัน

เมื่อพิจารณาถึงพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ว่าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ เราก็จะพบว่าภาคใต้มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 2,504 MW ในปี 2558 (อัตราการเติบโตเฉลี่ยจากปี 2545-2558 = 5.75% ต่อปี) และจะขยายตัวปีละ 4.6% ไปจนถึงปี 2561 ซึ่งจะมีความต้องการไฟฟ้าสูงถึง 2,978 MW แต่ขณะนี้ภาคใต้มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,059 MW เท่านั้น

การที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมสูงกว่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (peak) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะตามหลักการแล้วกำลังการผลิตติดตั้งรวมนั้นอาจไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเผื่อเอาไว้ ที่เรียกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง ซึ่งปกติจะสูงกว่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (peak) อยู่ 15% ซึ่งเท่ากับเราต้องมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมในปี 2561 ประมาณ 3,500 MW

นอกจากนั้นในกรณีที่ต้องป้องกันความเสี่ยงในเหตุฉุกเฉินหรือวิกฤต เราก็ควรมีกำลังการผลิตที่พึ่งพาได้ โดยคำนึงถึงเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนั้นไม่สามารถเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ (ในกรณีของภาคใต้คือโรงไฟฟ้าที่จะนะขนาด 760 MW) เราก็ยังมีกำลังการผลิตที่พึ่งพาได้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อหล่อเลี้ยงภาคใต้ทั้งภาคได้

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ที่ต้องขยายตัวตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอีกสิบปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ภาคใต้มีความต้องการไฟฟ้าสูงขึ้นจากปัจจุบันมากมายนัก

ดังนั้นคำถามว่าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มที่ภาคใต้หรือไม่ จึงไม่ควรต้องเป็นคำถามอีกต่อไป !!!

มนูญ ศิริวรรณ 21 มีนาคม 2560

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics