ทน.สงขลา จัดพิธีทำบุญตักบาตรเทโว ประจำปี 2562 ร่วมสืบสานประเพณีทางพุทธศาสนา

Spread the love

 

ทน.สงขลา จัดพิธีทำบุญตักบาตรเทโว ประจำปี 2562 ร่วมสืบสานประเพณีทางพุทธศาสนา โดยมีประชาชนชาวสงขลา ร่วมตักบาตรเทโวจากพระสงฆ์ที่ลงจากบันไดเขาตังกวนอย่างเนืองแน่น

        วันนี้ (14 ตุลาคม 2562) เวลา 06.45 น. ที่บริเวณเชิงบันไดเขาตังกวน เทศบาลนครสงขลา กำหนดจัดพิธีทำบุญตักบาตรเทโว ประจำปี 2562 โดยมีนายจารุวัฒน์  เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.ต.ทิวธวัช นครศรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา นายไชยพร นิยมแก้ว นายอำเภอเมืองสงขลา ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ คณะผู้บริหารเทศบาล สมาชิกสภา พนักงาน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมถึงนักท่องเที่ยวร่วมในพิธีทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมาก โดยนายกเทศมนตรีนครสงขลาได้อัญเชิญพระพุทธรูป จากเขาตังกวนลงมาประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่บูชา จากนั้นพระราชวรเวที เจ้าคณะจังหวัดสงขลา ประธานฝ่ายสงฆ์ ได้กล่าวสัมโมทนียกถา และพระภิกษุสงฆ์ สามเณร จำนวน 220 รูป ออกรับบิณฑบาต

        ตามพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากพระพุทธองค์ทรงกระทำ ยมกปาฏิหาริย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี แล้วได้เสด็จไป จำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ตลอดพรรษา ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันสุดท้ายของพรรษา พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับมนุษยโลกทางบันไดทิพย์ที่พระอินทร์นิมิตถวาย ประกอบด้วยบันไดแก้ว บันไดทอง และบันไดเงิน ซึ่งบันไดทั้งสามทอด ลงมายังประตูนครสังกัสสะ เมื่อเสด็จถึงประตูเมืองเป็นเวลาเช้าตรู่ ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษานั้น พุทธศาสนิกชน ที่ทราบข่าวต่างมาคอยต้อนรับเสด็จอย่างเนืองแน่น เพื่อจะคอยตักบาตร ถวายภัตตาหาร ดอกไม้ธูปเทียน ซึ่งเป็นที่มาของประเพณี ตักบาตรเทโว” 

แต่เนื่องจากพุทธศาสนิกชนที่มารอรับเสด็จ มีเป็นจำนวนมากจึง ไม่สามารถจะเข้าไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทั่วทุกคน จึงจำเป็นที่จะต้องเอาภัตตาหารห่อใบไม้ส่งต่อ ๆ กันเข้าไปถวาย ส่วนคนที่ อยู่ไกลออกไปมาก ๆ ใช้วิธีโยนไปบ้าง ปาบ้าง โดยถือว่าเป็นการถวายที่ ตั้งใจด้วยความบริสุทธิ์ด้วยแรงอธิษฐาน และอภินิหารแห่งพระพุทธองค์ ภัตตาหารเหล่านั้นไปตกในบาตรของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น จึงเกิด ประเพณีทำขนมชนิดหนึ่งที่ห่อด้วยใบไม้ เรียก ขนมต้ม” หรือ ห่อต้มห่อปัด ขึ้น ดังนั้น ขนมต้มจึงเป็นขนมที่เป็นเอกลักษณ์ประจำเทศกาล ดังมีคำกล่าวว่า เข้าษากินตอก ออกษากินต้ม” คือ ขนมประเพณีประจำ เทศกาลเข้าพรรษา คือ ข้าวตอก ขนมออกพรรษา คือ ขนมต้ม ที่ถือปฏิบัติ มาแต่โบราณ

       ประเพณีตักบาตรเทโว จึงนับว่าเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ เพราะนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนิกชนยังมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นประเพณีที่มีคุณค่า เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างชาวบ้านกับวัดอีกด้วย

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics