ชมรมจิตอาสา มรภ.สงขลา สร้างจิตสำนึกทิ้งขยะ “แยกให้ถูก ทิ้งให้เป็น”
ชมรมจิตอาสา มรภ.สงขลา จัดอบรมคัดแยกขยะ สร้างจิตสำนึกนักศึกษา “แยกให้ถูก ทิ้งให้เป็น” เทียบเชิญวิทยากรให้ความรู้พร้อมฝึกปฏิบัติ หวังช่วยลดปัญหาขยะมูลฝอย เดินหน้าสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ชมรมจิตอาสา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) สร้างจิตสำนึกการทิ้งขยะ “แยกให้ถูก ทิ้งให้เป็น” ผ่านโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การคัดแยกขยะ ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์รวมกิจการนักศึกษา มรภ.สงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาชมรมจิตอาสา ได้รับความรู้เกี่ยวกับการจำแนกและแยกประเภทของขยะ เพื่อลดปัญหาขยะมูลฝอยภายในมหาวิทยาลัย และการเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวของ มรภ.สงขลา โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิด
อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างจิตสำนึกรณรงค์การทิ้งขยะ การคัดแยกขยะ การนำขยะรีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะช่วยจัดการขยะและลดปริมาณขยะให้กับโลกของเรา ทั้งนี้ พระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน หนึ่งในนั้นคือการเป็นพลเมืองดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคน สถานศึกษาและสถานประกอบการต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทำหน้าที่พลเมืองดี
การเป็นพลเมืองดี หมายถึง การมีน้ำใจ มีความเอื้ออาทร ต้องทำงานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์ “เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ” ดังนั้น การจัดโครงการในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาเป็นพลเมืองที่ดีตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทางด้านการบำเพ็ญประโยชน์ โดยการร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่อง การคัดแยกขยะภายในมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับนักศึกษาชมรมจิตอาสา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์นำพาองค์กรสู่ความสุขและความมั่นคงของมหาวิทยาลัย ที่ดำเนินการโดยนักศึกษา
ด้าน นางสาวเขมจิรา จิรโรจนาเขต ประธานชมรมจิตอาสา มรภ.สงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดการขยะมูลฝอยเป็นปัญหาระดับโลกที่หลายประเทศต้องเผชิญ จากการขยายตัวของเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเติบโตของจำนวนประชากร ทำให้ขยะมูลฝอยมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลล่าสุดของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยของปี 2565 มีปริมาณ 25.70 ล้านตัน ซึ่งพบว่าขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องและขยะมูลฝอยตกค้าง มีปริมาณรวมกันถึง 17.03 ล้านตัน ทุกภาคส่วนจึงพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรีไซเคิล แคมเปญลดขยะ และการพัฒนาระบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน รวมถึงมองหาแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในทางเลือกที่หลายคนนึกถึงก็คือ กระบวนการ “Waste..to Energy” การใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นพลังงาน เพื่อลดปัญหาขยะล้นเมือง
สำหรับปัญหาขยะใน จ.สงขลา ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นนั้น เกิดจากการทิ้งขยะ การอุปโภคบริโภค รวมถึงกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ชุมชน ตลาด ร้านค้า โรงงาน ไม่มีระบบในการจัดเก็บขยะ แบบคัดแยกขยะ ไม่มีนวัตกรรมการจัดการขยะในชุมชน ตลาด และสถานศึกษา ซึ่ง มรภ.สงขลา เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยะดังกล่าวมาจากสำนักงาน คณะ โรงอาหาร ร้านค้า ร้านอาหารประจำตึก/คณะในมหาวิทยาลัย ที่มีการใช้ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก หลอด ให้กับลูกค้าเป็นส่วนใหญ่ หรือแม้กระทั่งมีเศษอาหารจำนวนมาก ซึ่งไม่มีการคัดแยกขยะแต่ละประเภท และนำขยะไปกำจัดให้ถูกวิธี หรือนำไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
ชมรมจิตอาสา มรภ.สงขลา เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัย จึงได้จัดโครงการในครั้งนี้ขึ้น โดยเชิญวิทยากร นายนฤดม เพชรทองบุญ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ชำนาญการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 (สงขลา) มาบรรยายให้ความรู้ในเรื่อง รู้จักประเภทของขยะ ถังขยะแยกประเภท การจัดการขยะด้วยแนวคิด 7R และฝึกปฏิบัติการคัดแยกขยะ “แยกให้ถูก ทิ้งให้เป็น”