ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2567   

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2567   
Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2567               

                      ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

              ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2567 เปรียบเทียบเดือนธันวาคม 2566 และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการข้อคำถาม ธันวาคม 2566 มกราคม 2567 คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 29.20 47.80 23.00 29.30 47.60 23.10 34.10 55.80 10.10
2. รายได้จากการทำงาน 27.70 46.80 25.50 27.90 46.90 25.20 35.40 48.30 16.30
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 31.60 47.10 21.30 31.80 47.40 20.80 37.10 48.50 14.40
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 29.50 45.80 24.70 29.90 46.20 23.90 34.50 49.30 16.20
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 27.90 47.70 24.40 27.80 48.40 23.80 34.20 45.60 20.20
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 28.50 47.60 23.90 28.80 47.50 23.70 37.40 47.60 15.00
7. การออมเงิน 27.10 45.80 27.10 27.50 45.90 26.60 37.50 41.20 21.30
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 27.70 46.20 26.10 27.60 46.30 26.10 34.50 51.30 14.20
9. การลดลงของหนี้สิน 28.60 48.50 22.90 28.80 48.60 22.60 36.80 49.20 14.00
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 26.40 46.20 27.40 26.20 46.60 27.20 35.60 45.80 18.60
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 25.20 45.50 29.30 25.10 45.80 29.10 39.60 49.80 10.60
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 26.70 46.50 26.80 26.50 46.40 27.10 32.40 50.10 17.50
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 29.40 47.90 22.70 29.70 47.80 22.50 33.60 44.70 21.70

  ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือน พฤศจิกายน ธันวาคม 2566 และมกราคม 2567

รายการข้อคำถาม 2566 2567
พฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 49.70 49.80 50.10
2. รายได้จากการทำงาน 43.80 43.90 44.30
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 59.50 59.70 59.80
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 50.20 50.60 50.90
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 50.70 50.90 51.00
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 43.00 43.40 43.50
7. การออมเงิน 41.10 41.30 41.60
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 39.40 39.30 39.30
9. การลดลงของหนี้สิน 48.20 48.50 48.70
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 44.30 44.30 44.10
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 39.40 39.10 39.00
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 35.60 35.60 35.50
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 40.90 41.20 41.40
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 45.80 46.30 46.60

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2567   

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนมกราคม 2567 (46.60) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน(45.80) และเดือนธันวาคม 2566 (46.30) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่  ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม  รายได้จากการทำงาน  รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว  ความสุขในการดำเนินชีวิต  ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย)  การออมเงิน  การลดลงของหนี้สิน  และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  โดยปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งจากช่วงปีใหม่และเป็นฤดูกาลในการท่องเที่ยว (High Season) รวมถึงความสามารถของผู้ประกอบการในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ตลอดจนได้รับแรงส่งจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ อาทิ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการ Easy-E-Receipt  ในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการมูลค่าสูงสุด 50,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567

  อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นหลัก  ดังนั้นภาคการท่องเที่ยวไทยต้องพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับการท่องเที่ยวของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค  ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร และควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวให้ชัดเจน โดยเฉพาะควรมุ่งเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพดี และมีกำลังซื้อสูง เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสามารถรองรับและตอบสนองความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม อีกทั้ง ภาครัฐควรจูงใจในการท่องเที่ยวเมืองรอง อาทิ การมอบสิทธิประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งทำให้เกิดการกระจายความเจริญในสู่จังหวัดเมืองรองต่าง ๆ รวมถึงภาครัฐควรเร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้สะดวก ปลอดภัย และสามารถเดินทางเชื่อมต่อกันระหว่างภูมิภาคได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้หลายภูมิภาคและหลายจังหวัดโดยไม่เสียเวลาในการเดินทาง

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความกังวล ความคาดหวัง และความต้องการของประชาชน มีดังนี้

  1. สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยยังน่ากังวล เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ประกอบอาชีพอิสระและรับจ้างทั่วไป โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบภาษี ซึ่งประชาชนกลุ่มเหล่านี้จำนวนไม่น้อยยังต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้  ทั้งนี้ ภาครัฐควรจัดหาแหล่งเงินกู้ในระบบให้กับประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบ เพื่อลดหนี้ครัวเรือนให้กับกลุ่มครัวเรือนเปราะบางเหล่านี้
  2. เกษตรกรมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตทางการเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้นมาก ประกอบกับภาคใต้มีสภาพอากาศที่แปรปรวนมาก ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้น้อยลง ทำให้รายได้ของเกษตรกรไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย และต้องเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบจำนวนมาก อย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและยังต้องพึ่งพาภาคการเกษตร ดังนั้นภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเป็นระบบ และควรส่งเสริมสนับสนุนนวัตกรรมทางการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนของเกษตรกร  
  3. ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวในภาคใต้จะมีการขยายตัวเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการจ้างงาน และการใช้บริการจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และในตัวเมืองของจังหวัดที่มีความเจริญ  แต่การท่องเที่ยวไม่ได้กระจายตัวไปสู่ชุมชนและเมืองรอง ซึ่งทำให้การท่องเที่ยวชุมชนและเมืองรองยังซบเซาและไม่ฟื้นตัว  ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวชุมชนและเมืองรอง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้และความเจริญอย่างทั่วถึง อาทิ แคมเปญส่วนลดเที่ยวชุมชน และส่วนลดเที่ยวเมืองรอง
  4. ความคิดเห็นของประชาชนในภาคใต้ต่อโครงการแลนด์บริดจ์ พบว่า ประชาชนส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ หากไม่มีผลประโยชน์ของนักการเมืองและกลุ่มทุนแอบแฝง โดยประชาชนกลุ่มนี้มองว่า หากภาคใต้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ย่อมจะทำให้เศรษฐกิจของภาคใต้ดีขึ้น และช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในภาคใต้  อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนหนึ่งไม่มั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยจริงหรือไม่  อีกทั้ง ยังมีความกังวลต่อผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ก่อนการดำเนินโครงการฯ ภาครัฐควรศึกษาผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงศึกษาค่าชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

                ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 34.10 และ 35.40 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 37.10 และ34.50 ตามลำดับ ในขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น  คิดเป็นร้อยละ 34.20  32.40 และ 33.60 ตามลำดับ

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics