ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนธันวาคม 2566
ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง
ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนธันวาคม 2566 เปรียบเทียบเดือนพฤศจิกายน 2566 และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า
รายการข้อคำถาม | พฤศจิกายน 2566 | ธันวาคม 2566 | คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า | ||||||
เพิ่มขึ้น/ | คงที่/ | ลดลง/ | เพิ่มขึ้น/ | คงที่/ | ลดลง/ | เพิ่มขึ้น/ | คงที่/ | ลดลง/ | |
ดีขึ้น | เท่าเดิม | แย่ลง | ดีขึ้น | เท่าเดิม | แย่ลง | ดีขึ้น | เท่าเดิม | แย่ลง | |
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม | 28.90 | 47.90 | 23.20 | 29.20 | 47.80 | 23.00 | 37.10 | 42.60 | 20.30 |
2. รายได้จากการทำงาน | 27.80 | 45.70 | 26.50 | 27.70 | 46.80 | 25.50 | 36.70 | 44.40 | 18.90 |
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว | 31.50 | 46.60 | 21.90 | 31.60 | 47.10 | 21.30 | 34.70 | 51.70 | 13.60 |
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ | 29.20 | 45.60 | 25.20 | 29.50 | 45.80 | 24.70 | 32.80 | 54.10 | 13.10 |
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต | 27.80 | 47.50 | 24.70 | 27.90 | 47.70 | 24.40 | 36.20 | 47.60 | 16.20 |
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) | 25.80 | 46.90 | 27.30 | 28.50 | 47.60 | 23.90 | 36.70 | 51.30 | 12.00 |
7. การออมเงิน | 26.80 | 45.60 | 27.60 | 27.10 | 45.80 | 27.10 | 34.60 | 45.20 | 20.20 |
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ | 27.70 | 46.20 | 26.10 | 27.70 | 46.20 | 26.10 | 30.40 | 48.90 | 20.70 |
9. การลดลงของหนี้สิน | 27.80 | 48.80 | 23.40 | 28.60 | 48.50 | 22.90 | 33.50 | 46.80 | 19.70 |
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน | 27.00 | 46.10 | 26.90 | 26.40 | 46.20 | 27.40 | 34.10 | 48.20 | 17.70 |
11. การแก้ปัญหายาเสพติด | 25.20 | 45.50 | 29.30 | 25.20 | 45.50 | 29.30 | 34.10 | 45.40 | 20.50 |
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ | 27.10 | 45.30 | 27.60 | 26.70 | 46.50 | 26.80 | 37.40 | 45.20 | 17.40 |
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ | 28.90 | 48.50 | 22.60 | 29.40 | 47.90 | 22.70 | 36.10 | 52.00 | 11.90 |
ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม 2566
รายการข้อคำถาม | 2566 | ||
ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม | |
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม | 49.50 | 49.70 | 49.80 |
2. รายได้จากการทำงาน | 43.40 | 43.80 | 43.90 |
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว | 59.30 | 59.50 | 59.70 |
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ | 49.90 | 50.20 | 50.60 |
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต | 50.60 | 50.70 | 50.90 |
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) | 42.80 | 43.00 | 43.40 |
7. การออมเงิน | 41.00 | 41.10 | 41.30 |
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ | 39.50 | 39.40 | 39.30 |
9. การลดลงของหนี้สิน | 48.10 | 48.20 | 48.50 |
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน | 44.40 | 44.30 | 44.30 |
11. การแก้ปัญหายาเสพติด | 39.60 | 39.40 | 39.10 |
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ | 35.90 | 35.60 | 35.60 |
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ | 39.80 | 40.90 | 41.20 |
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม | 45.50 | 45.80 | 46.30 |
ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนธันวาคม (46.30) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน (45.80) และเดือนตุลาคม (45.50) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน การลดลงของหนี้สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ นโยบายส่งเสริมการลงทุน การบริโภคของภาครัฐบาล และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวขึ้นประมาณ 2% รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 2 – 16 บาท โดยมีผลบังคับใช้เดือนมกราคม 2567 และภาครัฐยังมีมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยลดความกังวลของประชาชน อาทิ นโยบายการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ทำให้ลูกหนี้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งภาครัฐคาดว่าจะเป็นมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยั่งยืน โดยการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อให้ประชาชนนำไปปิดหนี้นอกระบบ และเข้ามาเป็นหนี้ในระบบที่มีดอกเบี้ยไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จำเป็นต้องย้อนไปดูที่ต้นตอของการเป็นหนี้ ซึ่งล้วนมาจากการมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤต อาทิ ฤดูกาลที่เกษตรกรมีผลผลิตตกต่ำ ช่วงที่ผู้ประกอบการค้าขายไม่ดี ช่วงเปิดภาคการศึกษาซึ่งผู้ปกครองต้องจ่ายค่าเล่าเรียนให้แก่บุตรหลาน เป็นต้น ซึ่งในช่วงวิกฤตต่าง ๆ ทำให้ประชาชนไม่มีเงินเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และไม่สามารถกู้เงินในระบบที่มีดอกเบี้ยไม่สูงได้ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องไปใช้บริการหนี้นอกระบบ ซึ่งมีดอกเบี้ยสูง อย่างไรก็ตามหากต้องการที่จะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ภาครัฐจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ต้นตอของปัญหาอย่างถ่องแท้ และต้องมีแผนการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้ที่พอเพียงต่อค่าใช้จ่าย และการปลูกฝังให้ประชาชนมีวินัยทางการเงิน การให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการกู้เงินในระบบ และการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤต ทั้งนี้ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และมีความต่อเนื่อง เพื่อให้ปัญหาหนี้นอกระบบลดน้อยลงอย่างเป็นรูปธรรม
จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความกังวล ความคาดหวัง และความต้องการของประชาชน มีดังนี้
- ประชาชนผิดหวังจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นน้อยมาก ซึ่งประชาชนมองว่า จำนวนเงินที่ปรับขึ้นนั้น ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเลย ทั้งนี้ ประชาชนต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน
- ประชาชนต้องการความชัดเจนจากนโยบายการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของภาครัฐ โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นลูกหนี้และได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว ยังเฝ้ารอการดำเนินงานของภาครัฐที่เป็นรูปธรรม จึงเสนอแนะให้ภาครัฐควรดำเนินงานเชิงรุก โดยกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานอย่างชัดเจน และระบุระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน รวมถึงทำการชี้แจงให้ประชาชนรับทราบ เนื่องจากหนี้นอกระบบดอกเบี้ยสูงมาก หากภาครัฐดำเนินการล่าช้า ย่อมทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ยิ่งเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของเจ้าหนี้นอกระบบจำนวนมากยังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการของภาครัฐ เนื่องจากมองว่า ดอกเบี้ยตามที่ภาครัฐกำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นไม่เหมาะกับการกู้เงินนอกระบบแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบส่วนหนึ่งกล่าวว่า ลูกหนี้นอกระบบจำนวนไม่น้อยหนีหนี้ ทำให้เจ้าหนี้มีความเสี่ยงต่อหนี้สูญมากเช่นกัน
- ประชาชนมองว่าปัจจุบันมีสิ่งผิดกฎหมายจำนวนมาก อาทิ ยาเสพติด การพนันออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้าประเวณี แรงงานต่างด้าว การลักลอบนำสินค้าเข้าประเทศ ฯลฯ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ล้วนส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่หน่วยงานภาครัฐบางส่วนรู้เห็นเป็นใจ โดยหวังรับเงินสินบนจากสิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้ จึงเสนอแนะให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำงานแบบเชิงรุกและมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเชิงระบบอย่างจริงจัง จึงควรมีมาตรการแก้ปัญหาการกระทำสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม และมีบทลงโทษอย่างเด็ดขาดแก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ปล่อยปละละเลย เพื่อให้สิ่งผิดกฎหมายลดน้อยลง
- ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์อุทกภัย ฝนตกหนัก ทำให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคใต้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องการให้ภาครัฐรีบเข้าช่วยมาเหลืออย่างรวดเร็วและทันท่วงที รวมถึงช่วยเยียวยาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 37.10 และ 36.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 34.70 และ 32.80 ตามลำดับ ในขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.20 37.40 และ 36.10 ตามลำดับ