ภาพถ่ายซุปเปอร์โนวา ดาวตก ดาวเสาร์ ทางช้างเผือก ดวงอาทิตย์ทรงกลด
คว้ารางวัลชนะเลิศ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ปี 2560
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดพิธีมอบรางวัลประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2560 “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” นำผู้ชนะการประกวดรับมอบโล่เกียรติยศจากรัฐมนตรีกระทรวงวิทย์ฯ ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2560 เผยปีนี้มีผู้สนใจส่งผลงานร่วมประกวดกว่า 300 ภาพ สวยงาม หลากหลาย มีคุณค่าทางศิลปะและวิทยาศาสตร์ หวังใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ สร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนและประชาชนคนไทย ตลอดจนผู้รักการถ่ายภาพหันมาสนใจดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น

26 สิงหาคม 2560 – นนทบุรี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ประจำปี 2560 หัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” มีผู้บริหารสดร. ผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปที่สนใจร่วมงาน บริเวณเวทีกลาง งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2560 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานในพิธีมอบรางวัล กล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ที่ชนะการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ประจำปี 2560 ว่า ขอชื่นชมในความตั้งใจและความเพียรพยายามของทุกท่านในการถ่ายภาพที่สวยงาม มีคุณค่าทั้งทางด้านศิลปะและทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นภาพที่หาชมได้ยาก และยังเป็นภาพถ่ายฝีมือคนไทยซึ่งน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ถือเป็นสื่อทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่งที่ใกล้ตัวประชาชนสามารถจับต้องได้ง่าย นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์และความสวยงามของปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ บนท้องฟ้าแล้ว ยังสร้างความประทับใจ สร้างแรงบันดาลใจ ในการสังเกต การค้นคว้า การเสาะแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุมีผลตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย
กิจกรรมการประกวดภาพถายทางดาราศาสตร์ รวมถึงผลงานภาพถ่ายทางดาราศาสตร์เหล่านี้ ได้ชวยกระตุนสรางความตระหนักและเสริมสรางบรรยากาศการเรียนรูทางดานดาราศาสตรใหกับเยาวชนและประชาชนในประเทศเป็นอย่างมาก และยังสงเสริมใหวงการดาราศาสตรของไทยไดรับการยอมรับและพัฒนาสูสากลตอไปในอนาคต ดร.อรรชกา กล่าว
รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันฯ ได้จัดประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 ปีนี้นับเป็นปีที่ 10 ของการประกวด แบ่งประเภทภาพถ่ายออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ Deep Sky Objects หรือวัตถุในห้วงอวกาศลึก ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ วัตถุในระบบสุริยะ วิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ และปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ในปีนี้ มีผู้ที่สนใจจากทั่วประเทศส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดกว่า 300 ภาพ ซึ่งผลงานที่ผ่านการคัดเลือก สถาบันฯ จะนำมาจัดทำเป็นสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์เผยแพร่ต่อสาธารณชนในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิทินดาราศาสตร์ โปสการ์ด ภาพประกอบสื่อเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ รวมทั้งนำไปจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้มีโอกาสสัมผัสความสวยงามและความมหัศจรรย์ของท้องฟ้า ดวงดาว รวมถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ อย่างทั่วถึง สร้างแรงบันดาลใจใหกับเยาวชนและประชาชนคนไทย ตลอดจนผู้รักการถ่ายภาพมีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกิจกรรมทางดาราศาสตร์มากขึ้น
รศ.บุญรักษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเชิญชวนล่วงหน้าไปยังผู้ที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ในปีต่อไป ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครรวมถึงข้อมูลปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อเตรียมตัวเก็บภาพสวยๆ ส่งประกวดได้ทาง www.NARIT.or.th หรือ www.facebook.com/NARITpage
น.ส. ชาติยา แก้วโย เจ้าของภาพ “Lucky star” รางวัลชนะเลิศ ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เล่าถึงการถ่ายภาพดังกล่าวว่า ได้ตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพทางช้างเผือกที่อุทยานเขาแหลมหญ้า จ.ระยอง ในช่วงรุ่งเช้า วันนั้นรอนานมากเนื่องจากสภาพท้องฟ้าในขณะนั้นมีเมฆเยอะ ความโชคดีคือช่วงที่รอเก็บภาพทางช้างเผือกมีดาวตกเกิดขึ้นพอดี สามารถเห็นได้ด้วยตาและบันทึกภาพเอาไว้ได้ จึงเป็นที่มาของชื่อภาพว่า “Lucky star” อยากชวนผู้สนใจมาถ่ายภาพปรากฏการณ์ดาราศาสตร์และส่งเข้าประกวดในครั้งต่อไปกันเยอะๆ นอกจากจะได้สัมผัสถึงบรรยากาศการถ่ายภาพดาราศาสตร์ยามค่ำคืนแล้วได้ลุ้นรางวัลจากการประกวดอีกด้วย
ด้าน นายวชิระ โธมัส เจ้าของภาพ “Blue Sapphire” รางวัลชนะเลิศ ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ กล่าวว่า ภาพที่ส่งเข้าประกวดถ่ายบริเวณอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ บรรยากาศโดยรวมสวยงามไปหมด ท้องฟ้ามืด และเห็นดาวสว่างชัดมาก ปีนี้ได้รับรางวัลรู้สึกดีใจและภูมิใจมาก เพราะผมหัดถ่ายภาพทางช้างเผือกมา 4 ปีแล้ว รู้สึกเหมือนความพยายามที่เราฝึกฝนถ่ายภาพมาตลอด 4 ปีนั้นสำเร็จแล้ว การถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้นไม่ยาก หากเรียนรู้และศึกษาในเรื่องเทคนิคการถ่ายภาพ การประมวลผลภาพ ซึ่งสีหรือองค์ประกอบภาพต้องเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ของภาพถ่ายดาราศาสตร์ และอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจส่งภาพเข้าร่วมประกวดในครั้งต่อไป
ด้าน น.ส. ปิ่นรัตน์ พรรณดิษฐ์ เจ้าของภาพ “Brocken Spectre อัศจรรย์พระธาตุกลางเมืองเชียงใหม่” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก กล่าวว่า สนใจการถ่ายภาพดาราศาสตร์ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ Astrophotography marathon ที่จัดโดย สดร. และมีโอกาสส่งภาพเข้าร่วมประกวดเมื่อปี 2558 ซึ่งได้รับรางวัลชมเชย สำหรับปีนี้ดีใจมากที่ได้รับรางวัลเพราะการถ่ายภาพนี้ขึ้นไปถ่ายบนดอยสุเทพตอนกลางคืนช่วงหลังฝนตก ต้องรอจังหวะที่เหมาะสมจึงได้ภาพของหมอกและเมฆที่สวนทางกันและเงาของพระธาตุที่สวยงาม อยากเชิญชวนผู้สนใจมาถ่ายภาพดาราศาสตร์ เพราะกิจกรรมนี้ได้ทั้งภาพสวยๆ ได้เพื่อน ได้มุมมองและเทคนิคต่าง ๆ ที่เอามาแบ่งปันกัน ที่สำคัญคือได้เรียนรู้การดูดาวเบื้องต้นอีกด้วย
ผลการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ประจำปี 2560 “มหัศจรรย์ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์” มีดังนี้
- ประเภท Deep Sky Objects
รางวัลชนะเลิศ นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ ชื่อภาพ “Vela Supernova Remnant”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายกีรติ คำคงอยู่ ชื่อภาพ “Rosette Nebula เนบิวลาดอกกุหลาบ”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายสิทธิ์ สิตไทย ชื่อภาพ “Southern Pinwheel Galaxy (M83)”
รางวัลชมเชย นายบัญญัติ ช่วยคง ชื่อภาพ “เนบิวลากระดูกงูเรือ”
- ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
รางวัลชนะเลิศ นางสาวชาติยา แก้วโย ชื่อภาพ “Lucky Star”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายสิทธิ์ สิตไทย ชื่อภาพ “GRS of Jupiter, Ganymede and Shadow”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายกีรติ คำคงอยู่ ชื่อภาพ “Geminids Meteor Shower 2015”
รางวัลชมเชย นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ ชื่อภาพ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ 24 มกราคม 2002”
- ประเภทภาพถ่ายวัตถุในระบบสุริยะ
รางวัลชนะเลิศ นายสิทธิ์ สิตไทย ชื่อภาพ “Saturn 2017”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายสรภัณฑ์ เลิศอุดมลักษณ์ ชื่อภาพ “ดาวหาง Panstarrs เคียงเดือน”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายปวีณ อารยางกูร ชื่อภาพ “Full Moon ISS Lunar Transit”
รางวัลชมเชย นายกีรติ คำคงอยู่ ชื่อภาพ “ดาวหาง Lovejoy Q2 2014 in Thailand”
- ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์
รางวัลชนะเลิศ นายวชิระ โธมัส ชื่อภาพ “Blue Sapphire”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายปวีณ อารยางกูร ชื่อภาพ “The Stargazer”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายวิศณุ บุญรอด ชื่อภาพ “ใบไม้เปลี่ยนสีที่ Maroon Bells กับทางช้างเผือก”
รางวัลชมเชย นายอภิสิทธิ์ วิไลจิตต์ ชื่อภาพ “สุสานหอยกับทางช้างเผือก”
- ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก
รางวัลชนะเลิศ นางสาวรุจิรา สาธิตภัทร ชื่อภาพ “Two Rings over Chao Phraya River”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นางสาวปิ่นรัตน์ พรรณประดิษฐ์ ชื่อภาพ “Brocken Spectre อัศจรรย์พระธาตุกลางเมือง
เชียงใหม่”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายภรัณยู พิทยรังสฤษฏ์ ชื่อภาพ “Symphony of Lights”
รางวัลชมเชย นายนภันต์ธเศรษฐ สิงห์ไทยนิยม ชื่อภาพ “Thunderclap and adhesion”