ผู้แทนเลขา ศอ.บต. เปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ความร่วมมือและการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ IMTGT”
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1”
ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย (สนต.) เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว และเขตเศรษฐกิจ IMT-GT รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 ธ.ค. 66 ที่โรงแรม บีพี แกรนด์ ทาวเวอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบหมายให้ นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. เป็นผู้แทนและเป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ความร่วมมือและการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ IMT-GT” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1” ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. – 2 ธ.ค. 66 ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย (สนต.)
โดยมี นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชนทั้งของไทย มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย เข้าร่วมกว่า 70 คน
นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการอีกเรื่องหลังเวทีแรกคือ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ความร่วมมือและการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ IMT-GT” โดยมี Mr. Suargana Pringganu กงสุลใหญ่อินโดนีเซีย ประจำจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย Mr. Ahmad Fahmi Ahmad Sarkawi กงสุลใหญ่มาเลเซีย ประจำจังหวัดสงขลา , ดาโตะฮัจยี โมฮัมมัด ซาและฮ์ ไซดิน ผู้อำนวยการการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และผู้ประกอบการ รัฐเคดาห์ , ผู้แทนแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา , ดร.สิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา , นายสมพล ชีววัฒนาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา และ น.ส.อัยดา กูเจะ นายกสมาคมการค้าการท่องเที่ยวฮาลาลไทย-อาเซียน
นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. กล่าวว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย โดยประชากรมากกว่าร้อยละ 80 นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งรัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความพิเศษของวิถีชีวิต และความศรัทธาของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่
จึงได้จัดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พิเศษ และมีนโยบายการพัฒนาที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิต และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามอัตลักษณ์และความเชื่อของตนเอง
นอกจากนั้นวานนี้ (1 ธ.ค.) ทาง ศอ.บต. ยังได้เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการไทยในพื้นที่ จชต. ได้จัดแสดงสินค้า พร้อมจับคู่ธุรกิจ Business Matching คู่ค้าจากประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ในมหกรรมเชื่อมสัมพันธ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษาระหว่างประเทศ คาบสมุทรมลายูภาคใต้ฯ ณ โรงแรมคริสตัลหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางการพัฒนา จชต.”
อีกทั้งงานดังกล่าวยังเป็นการเปิดตลาดสินค้าบริการฮาลาลของ จชต. ให้สามารถกระจายสินค้าได้ทั้งใน และต่างประเทศ ส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ระหว่างคาบสมุทรมลายูภาคใต้ อนุภูมิภาคไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ พร้อมสร้างการรับรู้ และความเข้าใจต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล จชต. แนวทางยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาพื้นที่ของรัฐบาล
ด้าน นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จ.สงขลา เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ทั้งทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเก่า และเมืองชายแดน ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยในแต่ละปีธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจึงนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของ จ.สงขลา ยังมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่น การเป็นเมืองในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ, เมือง MICE CITY, เมือง Sport City,เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (Gastronomy), การร่วมกันขับเคลื่อนสงขลาสู่เมืองมรดกโลก รวมถึงการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ในปี 2568
สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ IMT-GT ปัจจุบันประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้พัฒนาความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงาน และอาหาร การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิตัล การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนา และทุกภาคส่วน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การเติบโตอย่างสมดุล ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากลไกการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง 3 ประเทศ ให้มีการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต และความอยู่ดีกินดีของประชากรทั้ง 3 ประเทศ อีกทั้งการสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นการเปิดมุมมอง แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ IMT -GT ระหว่างสื่อมวลชน และผู้ประกอบการทั้ง 3 ประเทศ อีกด้วย
ขณะที่ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า กิจกรรมสานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-2 ธ.ค. 66 ในครั้งนี้ ซึ่งจัดโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย โดยเริ่มต้นวันแรกเข้าจากด่านเบตง จ.ยะลา จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.สงขลา พบปะผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งพบปะผู้บริหารองค์กรการท่องเที่ยว ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ชมแหล่งท่องเที่ยวอันซีนและแหล่งใหม่ของแต่ละจังหวัด และสัมมนาหัวข้อความร่วมมือการพัฒนาการท่องเที่ยวและเขตเศรษฐกิจ IMT-GT ที่จังหวัดสงขลา ก่อนเดินทางกลับผ่านด่าน
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจ IMT-GT และกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นระหว่างผู้ประกอบท่องเที่ยวทั้ง 3 ประเทศ และเปิดมุมมองหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคต