ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤษภาคม 2566

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤษภาคม 2566
Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤษภาคม 2566           

                      ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

              ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤษภาคม 2566 เปรียบเทียบเดือนเมษายน 2566 และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการข้อคำถาม เมษายน 2566 พฤษภาคม 2566 คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 29.20 47.50 23.30 29.50 48.20 22.30 35.60 45.80 18.60
2. รายได้จากการทำงาน 28.70 47.60 23.70 28.90 48.10 23.00 36.50 50.40 13.10
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 29.50 48.50 22.00 29.60 48.80 21.60 35.40 48.30 16.30
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 28.60 44.20 27.20 28.50 44.40 27.10 37.10 48.50 14.40
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 27.90 48.60 23.50 27.80 48.80 23.40 33.50 49.40 17.10
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 26.30 48.90 24.80 26.60 48.20 25.20 30.10 54.60 15.30
7. การออมเงิน 26.70 48.80 24.50 26.80 48.50 24.70 34.20 57.20 8.60
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 28.40 45.80 25.80 28.60 46.60 24.80 30.30 48.60 21.10
9. การลดลงของหนี้สิน 28.60 49.40 22.00 28.40 48.20 23.40 34.60 45.20 20.20
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 27.20 47.70 25.10 27.30 47.20 25.50 32.10 50.70 17.20
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 26.20 42.90 30.90 26.50 43.20 30.30 34.30 45.60  20.10
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 27.50 45.60 26.90 27.10 45.30 27.60 34.50 49.40 16.10
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 29.90 47.10 23.00 29.70 48.90 21.40 34.80 50.30 14.90
                       

 

 

  

 ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2566

รายการข้อคำถาม 2566
มีนาคม เมษายน พฤษภาคม
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 48.90 49.30 49.70
2. รายได้จากการทำงาน 44.10 44.20 45.60
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 58.00 58.60 58.70
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 49.30 49.80 49.70
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 50.40 50.70 50.90
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 42.70 42.90 43.20
7. การออมเงิน 41.20 41.30 41.40
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 40.00 39.70 39.50
9. การลดลงของหนี้สิน 48.20 48.20 48.10
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 44.30 44.40 44.50
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 40.30 40.10 40.30
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 35.20 35.20 35.10
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 36.10 36.30 36.50
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 45.10 45.80 46.40

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนพฤษภาคม (46.40) ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2566 (45.80) และเดือนมีนาคม 2566 (45.10) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครอบครัว  ความสุขในการดำเนินชีวิต  ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด  และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่  แรงสนับสนุนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.7%  ปัจจัยสำคัญมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน  นอกจากนี้ การลงทุนและภาคการผลิต รวมถึงการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อีกทั้ง อัตราเงินเฟ้อมีการขยายตัวที่ลดลง เนื่องจากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มชะลอตัว

แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศมีทิศทางดีขึ้น แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังเป็นความเสี่ยงต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ  ทั้งนี้ การรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล และการโหวตนายกรัฐมนตรียังมีความไม่แน่นอนสูง  ประกอบกับมีข่าวการเจรจาต่อรองทางการเมืองที่อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้วในการจัดตั้งรัฐบาล จึงทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และยังไม่ตัดสินใจลงทุนทางธุรกิจจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มีความชัดเจน  อย่างไรก็ตามนักลงทุนและภาคธุรกิจมองว่าการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะไม่กระทบต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย  แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้าและยืดเยื้อออกไป ย่อมส่งผลต่อการประกาศใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจของภาครัฐล่าช้าไปด้วย โดยคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2567  อันจะสามารถผลักดันนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามที่ได้หาเสียงไว้

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่รอที่จะเห็นโฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ และนายกรัฐมนตรี รวมถึงผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่าง ๆ  นอกจากนี้ประชาชนยังคาดหวังต่อการดำเนินงานของรัฐบาลใหม่ตามนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้  โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนเกี่ยวกับความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชน  ทั้งนี้ ประชาชนหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะมีความชัดเจนในวันเวลาอันใกล้นี้ โดยเฝ้ารอการแถลงนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความคาดหวังและความต้องการของประชาชนต่อนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม  มีดังนี้

  1. รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญในการเร่งดำเนินงานขับเคลื่อนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามที่ได้หาเสียงไว้ มากกว่าการให้ความสำคัญกับการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชน
  2. การปรับค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับขึ้นตามไปด้วย อันจะส่งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยภาพรวม ดังนั้น ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อภาคธุรกิจ รวมถึงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน
  3. ประชาชนต้องการให้รัฐบาลใหม่ปฏิรูปพลังงานให้เกิดความยั่งยืน โดยยกเลิกการผูกขาดด้านพลังงาน และควบคุมราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะราคาพลังงานเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น
  4. ผู้สูงวัยต้องการให้รัฐบาลใหม่สร้างความเท่าเทียมระหว่างบำนาญประชาชนกับบำนาญข้าราชการ  เนื่องจากประชาชนที่ไม่ใช่ข้าราชการมองว่า เขาก็ทำงานให้กับประเทศเช่นเดียวกัน

                ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 35.60 และ 36.50 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็น ร้อยละ 35.40 และ 37.10 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 33.50

34.50 และ 34.80 ตามลำดับ

                สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ และต้องการให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ        1) การช่วยลดค่าไฟฟ้าและค่าพลังงาน  2) การเพิ่มค่าแรงให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง  3) การเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ  และ  4) การจัดการกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการพนันออนไลน์

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics