สดร. เก็บภาพสุริยุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าติมอร์-เลสเตมาฝากชาวไทย

Spread the love

สดร. เก็บภาพสุริยุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าติมอร์-เลสเตมาฝากชาวไทย

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม  เผยภาพ “สุริยุปราคาเต็มดวง” วันที่ 20 เมษายน 2566 ณ เมืองคอม สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ขณะเกิดปรากฏการณ์สภาพท้องฟ้าใสไร้เมฆ รับชมได้ตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดปรากฏการณ์อย่างสมบูรณ์ สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ชั้นโคโรนา ปรากฏการณ์แสงโลก และเปลวสุริยะ ได้อย่างชัดเจน         

สดร. เก็บภาพสุริยุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าติมอร์-เลสเตมาฝากชาวไทย

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ นำทีมเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. เดินทางมาเก็บข้อมูล และศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ตั้งจุดสังเกตการณ์บริเวณโรงเรียนประถมประจำเมืองคอม สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นบริเวณที่แนวคราสเต็มดวงพาดผ่าน ตั้งกล้องโทรทรรศน์ อุปกรณ์สังเกตการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมชนิดต่างๆ เพื่อศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง รวมทั้งเก็บภาพมาฝากชาวไทย ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ท่านเอกพล พูลพิพัฒน์ ร่วมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้อีกด้วย

ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ทัศนวิสัยท้องฟ้าใส ไร้เมฆ สามารถชมปรากฏการณ์ได้ตลอดตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ อาทิ ปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ชั้นโคโรนา ปรากฏการณ์แสงโลก และเปลวสุริยะ นอกจากนี้ในช่วงก่อนและหลังสุริยุปราคาเต็มดวง ยังสามารถสังเกตปรากฏการณ์ข้างเคียงได้อย่างชัดเจน อาทิ ปรากฏการณ์แถบเงา ปรากฏการณ์เงาเสี้ยว ขณะดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์จนมิด กินเวลานาน 1 นาที 15 วินาทีท้องฟ้ามืดจนสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดี และดาวศุกร์ ปรากฏบนท้องฟ้าเป็นที่น่าประทับใจยิ่ง 

ภาพลำดับปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้ เป็นสุริยุปราคาแบบผสม (สุริยุปราคาวงแหวนและเต็มดวง) เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/80 ชุดซารอสที่ 129 แนวคราสเต็มดวงเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนใหญ่พาดผ่านมหาสมุทร และแผ่นดินบางส่วนที่เป็นเกาะ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศติมอร์ตะวันออก และประเทศอินโดนีเซีย (เกาะปาปัวและปาปัวตะวันตก) ตั้งแต่เวลา 09:42 – 12:52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) การเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุด 1 นาที 16 วินาที ส่วนประเทศไทยเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน

 

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 เมษายน 2567 พาดผ่านทวีปอเมริกาเหนือ เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตได้ ครั้งที่สังเกตได้จะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า เกิดเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ในวันที่ 2 สิงหาคม 2570 

บรรยากาศการสังเกตการณ์

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics