กฟผ. จับมือม.เกษตรฯ สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจ นำร่องโรงแรก10เมกะวัตต์ ในภาคอีสาน

Spread the love

กฟผ. จับมือม.เกษตรฯ สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจ นำร่องโรงแรก10เมกะวัตต์ ในภาคอีสาน
กฟผ. ปั้น”โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจ” นำร่องโรงแรก 10 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ภาคอีสาน จ่ายไฟเข้าระบบปี 2563 หากประสบความสำเร็จ จะเดินหน้าลงทุนให้ครบ 600 เมกะวัตต์ภายในปี 2579 ตามแผน พร้อมจับมือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งเสริมเกษตรกรปลูกไม้โตเร็ว อาทิ กระถินยักษ์​ กระถินณรงค์​ ยูคาลิปตัส รองรับ เพื่อให้มีวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเพียงพอ ระบุลงทุนครบ600เมกะวัตต์ จะสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากถึง7,200ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ โรงไฟฟ้าชีวมวล ช่วยประเทศพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานได้ดีกว่าโซลาร์เซลล์

เมื่อวันที่8 ก.ย. 2560 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลและการปลูกพืชพลังงานเพื่อใช้ในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน แบบยั่งยืนตามแนวทางประชารัฐ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.เตรียมจัดตั้ง “โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจ” ขึ้นนำร่องโรงแรกในปี 2563 นี้ โดยขนาดกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์​ ใช้ไม้ยางพาราและไม้โตเร็วเป็นเชื้อเพลิง ในพื้นที่ที่ภาคอีสาน จากนั้นจะทยอยสร้างเพิ่มจนครบเป้าหมายของ กฟผ.ที่ 600 เมกะวัตต์ภายในปี 2579 ทั้งนี้หาก กฟผ.สร้างครบ 600 เมกะวัตต์​ คาดว่าจะใช้ชีวมวลประมาณ​ 9 ล้านตันต่อปี โดยขณะนี้ราคาไม้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอยู่ที่ประมาณ 800 บาทต่อตัน หากใช้ถึง 9 ล้านตันจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรถึง 7,200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินมูลค่าดังกล่าวจะกลับคืนสู่เกษตรกรอย่างชัดเจน

สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจ เป็นโครงการที่บูรณาการทำงานทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชน โดยกฟผ.จะเป็นผู้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล และซื้อเชื้อเพลิงจากเกษตรกร ในขณะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะช่วยด้านบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้เพียงพอ ปรับปรุงพันธุ์ไม้เพื่อนำมาใช้กับโรงไฟฟ้า รวมถึงอบรมให้ความรู้กับเกษตกรที่จะรวมกลุ่มกันในรูปสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน และจะได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในสัดส่วนการลงทุน 10-20% ของการลงทุนทั้งหมด และเมื่อ กฟผ.ขายไฟฟ้าได้ เกษตรกรก็จะได้รับเงินปันผล อีกทั้งเกษตรกรยังสามารถนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาขายให้ กฟผ. เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลได้อีกด้วย

“แต่เดิมโรงไฟฟ้าชีวมวลเราใช้แกลบ ชานอ้อย ข้าวเปลือก เป็นเชื้อเพลิง แต่ถ้าเพิ่มการผลิตไฟฟ้าชีวมวลขึ้นมาอีก เศษวัสดุทางการเกษตรดังกล่าวจะไม่เพียงพอ ดังนั้น กฟผ.จึงร่วมกับม.เกษตรฯ ในการส่งเสริมการปลูกพืชโตเร็ว เช่น กระถินยักษ์​ กระถินณรงค์​ ยูคาลิปตัส เป็นต้น ไม้พวกนี้ถ้าปลูกแล้ว 2-3 ปีก็สามารถตัดมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้เรื่อยๆ จนครบอายุโรงไฟฟ้าที่ 25 ปี ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้ามีเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”นายสหรัฐ กล่าว

ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์​ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ กล่าวว่า เชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นจุดเด่นของไทยคือ ชีวมวล ไม่ใช่โซล่าร์เซลล์ เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีเศษวัสดุทางธรรมชาติเหลือและนำมาเป็นเชื้อเพลิงได้ และสามารถปลูกเป็นพืชพลังงานได้ด้วย ต่างจากโซลาร์เซลล์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพราะผลิตเองได้ไม่มาก ดังนั้นไทยจึงไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้จากการสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์

อย่างไรก็ตามการปลูกพืชในอนาคตควรมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เช่น ปลูกไม้โตเร็วเพื่อขายเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล มีตลาดรองรับชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่ใช้พื้นที่ปลูกพืชอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เช่น ปลูกข้าว ข้าวโพด ส่งผลให้ผลผลิตราคาตกต่ำ ดังนั้นเกษตรกรควรผสมผสานด้วยการแบ่งพื้นที่ไปปลูกไม้โต้เร็วบ้าง ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น และไทยยังมีพื้นที่ปลูกพืชพลังงานได้อีกมาก ทั้งแปลงปลูก พื้นที่คันคลอง หรือกระทั้งรั้วบ้าน ก็สามารถปลูกได้

ดร.มะลิวัลย์​ หฤทัยธนาสันติ์​ นักวิจัยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าหากบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลอย่างเป็นระบบด้วยเทคโนโลยีข้อมูลที่ทันสมัยจะช่วยจัดหาเชื้อเพลิง 9 ล้านตันต่อปี ให้มีเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์​ได้ หัวใจสำคัญคือต้องมีการบริหารสต๊อก เบื้องต้นควรมีเชื้อเพลิงสำรอง 1 เดือน โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ กฟผ. จะเริ่มนำร่องโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจชุมชนโรงแรกขนาด 10 เมกะวัตต์ก่อน โดยได้ประสานกับกลุ่มเกษตรกรเพื่อเตรียมจัดส่งเชื้อเพลิงไว้แล้ว

สำหรับไม้ที่จะมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลนั้น จากการศึกษาพบว่าไม้ที่เหมาะสม ได้แก่ กระถินยักษ์​ กระถินณรงค์​ กระถินเทพา ไม้สะแก สะแกนา รวมถึงไม้มะม่วง มะขาม ส่วนยูคาลิปตัส แม้จะเป็นวัตถุดิบที่ดีแต่อาจเกิดปัญหาการแย่งวัตถุดิบ ที่ปัจจุบันปลูกเพื่อนำไปทำกระดาษได้

นอกจากนี้มั่นใจว่ารูปแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจ เป็นรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืนในการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ เนื่องจากเกษตรกรจะได้ทั้งความเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งและขายวัตถุดิบได้ด้วย โดยราคาไม้ท่อนสำหรับเป็นเชื้อเพลิงปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 600 บาทต่อตัน ส่วนไม้สับอยู่ที่ 900-1,300 บาทต่อตัน วิธีนี้น่าจะช่วยแก้ปัญหาการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนลงไปได้ ซึ่งต่างจากรูปแบบปัจจุบันที่เอกชนเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว และเกษตรกรก็เป็นเพียงผู้ขายวัตถุดิบให้เท่านั้น

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics