- Created: Thursday, 11 May 2017 13:33
จิตอาสา กฟผ. ร่วมกับบริษัทในกลุ่ม กฟผ. และประชาชน รวมใจประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมเตรียมขยายผลสู่เขต เขื่อน และโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั่วประเทศ
วันนี้ (11 พฤษภาคม 2560) นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ร่วมถวายความอาลัยและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยจิตอาสา กฟผ. ร่วมกับบริษัทในกลุ่ม กฟผ. และประชาชน ได้จัดกิจกรรม “ทำด้วยมือ ถวายด้วยใจ” เพื่อรวมใจกันประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 และระหว่างวันที่ 15 – 19 พฤษภาคม 2560 ก่อนส่งมอบให้กับทางกรุงเทพมหานคร ในเบี้องต้น เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในช่วงเดือนตุลาคม ทั้งนี้ การประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ของเหล่าจิตอาสา กฟผ. ในครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จาก ดร.อาทร จันทวิมล ผู้ประสานงานศูนย์น้ำใจไมตรี กระทรวงวัฒนธรรม และคณะวิทยากร มาเป็นผู้ฝึกสอน ณ ห้องโถงกระจก อาคารฝ่ายสื่อสารองค์การ สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. กล่าวต่อไปว่า กฟผ. ได้จัดทำคลิปวีดีโอสอนวิธีการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ เพื่อให้ครอบครัวพนักงาน กฟผ. รวมถึงประชาชนชาวไทย ที่ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้มีโอกาสประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ที่บ้าน เพื่อร่วมถวายความอาลัยและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ผู้สนใจสามารถเข้าไปรับชมวิธีการสอน ผ่านทาง Youtube PR EGAT , Facebook กฟผ.ฝ่ายสื่อสารองค์การ และ Facebook EGAT Fans โดยสามารถรับชมได้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป
“สำหรับ ดอกดารารัตน์ หรือดอกแดฟโฟดิล ที่ กฟผ. ใช้เป็นรูปแบบในการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ นั้น เป็นดอกไม้ ที่มีความหมายถึงความหวัง และเกียรติยศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดและพระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะทรงศึกษาและประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จิตอาสา กฟผ. จึงพร้อมใจกันประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์จากเปลือกข้าวโพด ด้วยความสามารถของตนเอง และเกิดเป็นความภาคภูมิใจที่ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และพร้อมน้อมสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ ซึ่งดอกไม้จันทน์ดังกล่าว เป็นการนำวัสดุเหลือใช้ที่ได้จากธรรมชาติมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ เป็นการรักษาและช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการตามรอยศาสตร์พระราชา รัชกาลที่ 9 คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มี 3 หลักใหญ่ ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี อีกเช่นกัน” รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. กล่าวในตอนท้าย