มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นการแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่ง

Spread the love

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เดินหน้าสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

วันนี้ (26 ก.พ. 63) ที่โรงแรมราชมังคลา สงขลาเมอร์เมด อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สถาบันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีผศ.ดร.เกื้ออนันต์ เตซะโตคณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.พลชาติ โชติการ หัวหน้าโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายธนาวุฒิ กุลจิตติชนก ประมงจังหวัดสงขลา นายอนุภาพ คงทอง ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสงขลาและนางวีณา หนูยิ้ม ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (สงขลา) ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาคเอกขนและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในจังหวัดสงขลา ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สินทั้งของทางราชการและประชาชนในพื้นที่ การที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดการประชุมเพื่อชี้แจงการดำเนินงานและจะมีการจัดประชุมเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งราชการเอกชน ประชาชนและองค์กรอิสระจึงเป็นโอกาสที่จะได้ร่วมกันแสวงหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งของจังหวัด โดยใช้ทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการและข้อเสนอแนะจากประชาชนซึ่งประสบปัญหาจริงในพื้นที่ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

 

โดยจากผลการสำรวจพื้นที่แนวชายฝั่งจังหวัดสงขลา ระยะทางทั้งสิ้น 168.4 กิโลเมตร พบว่ามีพื้นที่ชายหาดประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในช่วงฤดูมรสุมในพื้นที่หลายอำเภอ ประกอบด้วย อำเภอสิงหนคร อำเภอจะนะ อำเภอระโนด อำเภอเทพาและอำเภอเมืองและมีแนวโน้มที่จะมีการกัดเซาะมากขึ้นในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาหลายงานได้ดำเนินมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ทั้งในส่วนที่เป็นโครงสร้างแข็งหรือโครงสร้างทางวิศวกรรมและในส่วนของมาตรการเชิงบริหารจัดการ แต่เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีบริบทและเงื่อนไข ข้อจำกัดที่แตกต่างกันทั้งสภาพภูมิประเทศและชุมชนทำให้การดำเนินการไม่ประสบผลสำเร็จ

ด้านผศ.ดร.เกื้ออนันต์ เตซะโต คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ดำเนินการคัดเลือกพื้นที่บริเวณตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร ซึ่งมีปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อทำการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่จริง โดยนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมชายฝั่ง “การใช้โดมทะเลเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง” ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีผลการวิจัยทั้งในห้องปฏิบัติการและการใช้งานจริงในต่างประเทศว่าโดมทะเลสามารถลดพลังงานและแรงปะทะของคลื่น สามารถปกป้องแนวชายฝั่งจากพายุ โดยมีการออกแบบช่องเปิดรอบแนวปะการังเพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อกระแสน้ำชายฝั่ง มีการเสริมฐานหกเหลี่ยมเพื่อเพิ่มเสถียรภาพต้านการพลิกคว่ำ การไถลและการทรุดตัว อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการช่วยฟื้นฟูทรัพยากรในการเป็นบ้านปลา

ทั้งนี้ทางโครงการฯ ทำการติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทั้งก่อนและหลังวางโดมทะเลอย่างต่อเนื่อง ในทุกมิติทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพและสังคม เพื่อประเมินประสิทธิภาพและผลกระทบของโดมทะเลต่อพื้นที่ ทั้งนี้หากการวิจัยเชิงปฏิบัติการประสบความสำเร็จโดยทะเลจะเป็นต้นแบบในการเสนอทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอันจะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและรักษาสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืนของประเทศต่อไป

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics