มรภ.สงขลา ห่วง “สาหร่ายผมนาง” พืชท้องถิ่นลดปริมาณ

Spread the love

มรภ.สงขลา ห่วง สาหร่ายผมนาง พืชท้องถิ่นลดปริมาณ

เร่งศึกษาการใช้ประโยชน์ ส่งเสริมความรู้คุณค่าทางอาหาร

 

                คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ห่วงสาหร่ายผมนางมีปริมาณลดน้อยลง เหตุสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เร่งศึกษาการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ควบคู่ส่งเสริมความรู้คุณค่าทางอาหาร พร้อมปลูกฝังคนรุ่นใหม่ร่วมอนุรักษ์พืชท้องถิ่น

                ผศ.สบาย ตันไทย อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการจัดอบรมเรื่อง การเลี้ยง การเก็บเกี่ยว และการใช้ประโยชน์สาหร่ายผมนางในทะเลสาบสงขลา : ยำสายที่ปักษ์ใต้บ้านเรา ว่า สาหร่ายผมนางมีชื่อเรียกตามลักษณะของสาหร่ายที่เหมือนเส้นผมของผู้หญิงว่า ผมนาง และมีภาษาท้องถิ่นว่า สาย เป็นสาหร่ายทะเลสีแดงที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จัดเป็นอาหารสุขภาพที่มีแหล่งที่อยู่อาศัยในอ่าวปัตตานีและทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะบริเวณเกาะยอ เป็นแหล่งที่เคยมีสาหร่ายผมนางชุกชุมมาก เป็นพื้นที่ที่มีการสืบทอดวัฒนธรรมการนำสาหร่ายผมนางมาใช้ประโยชน์อย่างยาวนาน ทั้งเป็นอาหารคน อาหารสัตว์น้ำ และการทำปุ๋ยพืชบก โดยเฉพาะการใช้เป็นอาหารที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

               ผศ.สบาย กล่าวว่า ปัจจุบันสาหร่ายผมนางมีปริมาณลดน้อยลง เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ทั้งโดยธรรมชาติและผลการกระทำของมนุษย์ เป็นผลให้แหล่งที่เกิดสาหร่ายเสื่อมโทรมลงและมีขอบเขตจำกัด เนื่องจากแหล่งน้ำตื้นเขิน น้ำมีความขุ่นสูง และกระแสน้ำไหลแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตและผลผลิตของสาหร่ายอย่างเห็นได้ชัดเจน คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ในฐานะสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเผยแพร่วัฒนธรรม การเลี้ยง และการนำสาหร่ายผมนางมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง จึงจัดอบรมให้ความรู้แก่นักศึกษาของทางคณะฯ จำนวน 100 คน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ในคุณค่าทางอาหาร รู้จักประโยชน์และการนำไปใช้ ช่วยกันดูแลพื้นที่ที่เป็นแหล่งสาหร่ายผมนางในทะเลสาบสงขลา

                อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวอีกว่า นอกจากการให้ความรู้แล้วยังมีการปลูกฝังให้นักศึกษาในฐานะคนรุ่นใหม่ เห็นถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมทางการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยได้เชิญวิทยากร รศ.ดร.ระพีพร เรืองช่วย อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและการอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี น.ส.วรรณิษา แสงแก้ว และ น.ส.มัณฑณา ดอนนกลาย นักศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมถ่ายทอดความรู้ นอกจากนั้น ทางคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ยังจัดการแข่งขันสร้างสรรค์เมนูอาหารโดยใช้สาหร่ายผมนาง เพื่อให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าให้กับพืชท้องถิ่นชนิดนี้

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics