สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ นำทัพยุววิจัยดาราศาสตร์ไทยโชว์ผลงานที่ญี่ปุ่นต่อเนื่องเป็นปีที่หก ดันงานวิจัยระดับโรงเรียนและกิจกรรมชมรมดาราศาสตร์ไทยเผยแพร่สู่เวทีสากล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดการผลิตงานวิจัยและกิจกรรมดาราศาสตร์ในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษา ต่อยอดพื้นฐานการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา หวังส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทยสนใจศึกษาต่อด้านดาราศาสตร์เพิ่มมากขึ้น
นางสาวจุลลดา ขาวสะอาด ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ นำคณะยุววิจัยไทย จำนวน 6 คน พร้อมครูที่ปรึกษา จำนวน 5 คน เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนในการประชุมวิชาการดาราศาสตร์ระดับเยาวชนของสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น ประจำปี 2561 ณ มหาวิทยาลัยชิบะ อีกทั้งได้ร่วมนำเสนอการจัดกิจกรรมของชมรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน ในงานการประชุมเครือข่ายดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนมัธยมศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา
นางสาวจุลลดา กล่าวว่า นับเป็นปีที่ 6 ที่ สดร. นำยุววิจัยตามโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูงเข้าร่วมนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการดาราศาสตร์ระดับเยาวชนของสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น มีทั้งการนำเสนอผลงานด้วยโปสเตอร์ และการนำเสนอแบบปากเปล่า ส่วนใหญ่เป็นโครงงานที่เด็กคิดตั้งคำถามเพื่อที่จะหาคำตอบด้วยตัวเอง ภายใต้ครูที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ และมีเจ้าหน้าที่ของ สดร. เป็นพี่เลี้ยงด้านเทคนิคและวิธีการทำวิจัย ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะได้ฝึกฝน เรียนรู้การทำงานวิจัยดาราศาสตร์อย่างเป็นระบบ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ฝึกคิดออกแบบการทดลอง รู้จักแก้ไขปัญหา รวมถึงการนำเสนอผลงานของตนให้เป็นที่ยอมรับ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่า และยังสนับสนุนการศึกษาในรูปแบบสะเต็มศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่แค่ท่องจำทฤษฎีหรือกฏทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่สร้างความเข้าใจทฤษฎีผ่านการปฏิบัติให้เห็นจริงควบคู่กับการพัฒนาทักษะทางด้านการคิด ตั้งคำถาม แก้ปัญหา และหาข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ข้อค้นพบ
ใหม่ๆ เกิดการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ที่เป็นประโยชน์ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ กระบวนการเหล่านี้ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยหันมาสนใจศึกษาต่อทางด้านดาราศาสตร์ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ด้านนางสาวประณิตา เสพปันคำ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์หนึ่งในผู้ควบคุมทีม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้ผลงานวิจัยของเด็กไทยมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยที่เป็นโครงงานเชิงประดิษฐ์ ได้แก่ การออกแบบและการสร้างอุปกรณ์ตามดาว สำหรับกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวระบบดิจิตอล (DSLR) เพื่อช่วยในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ และการทำวิจัยพัฒนาอุปกรณ์ช่วยระบุตำแหน่งวัตถุท้องฟ้าสำหรับกล้องโทรทรรศน์ดอปโซเนียนด้วยโปรแกรมอาดูยโน ในราคาย่อมเยา เป็นต้น ผลงานวิจัยที่เข้าร่วมนำเสนอในการประชุมดังกล่าวมีจำนวน 6
โครงงาน ประกอบด้วย
- การศึกษาความหนาแน่นของดาวพฤหัสบดี
โดย นางสาวธนัชภัทร สายทอง โรงเรียนศรียานุสรณ์ จ.จันทบุรี
2. การศึกษาคาบการโคจรของดวงจันทร์บริวารเพื่อหาค่ามวลของดาวเสาร์
โดย นางสาวชญานิศ ไข่มุกข์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร จ.มุกดาหาร
3. การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อระดับสีของดวงอาทิตย์
โดย นางสาวทอแสง ลี้สงวน โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร จ.มุกดาหาร
4. การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของดาว HD37018 ในกลุ่มดาวนายพราน
โดย นางสาวอลิษา นาคคำ โรงเรียนหนองบัวแดงวิทยา จ.ชัยภูมิ
5. การพัฒนาอุปกรณ์ช่วยระบุตำแหน่งวัตถุท้องฟ้าสำหรับกล้องโทรทรรศน์ดอปโซเนียนด้วย Arduino
โดย นายวรัญญู นิจจรัลกุล โรงเรียนสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี
6. การออกแบบและการสร้าง Tracking Mount สำหรับกล้อง DSLR เพื่อถ่ายภาพแบบติดตามดาว
โดย นางสาวกันต์กนิษฐ์ ผลพอตน โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี
อาจารย์ชฎาพร ช่วยชู ครูจากโรงเรียนสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า รู้สึกประทับใจรูปแบบการจัดงานการนำเสนอในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและมีความสนใจในด้านดาราศาสตร์ของนักเรียนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยสังเกตจากความตั้งใจนำเสนอ และกระบวนการทำงานของการค้นหาคำตอบในโครงงาน และความหลากหลายของงาน ส่งเสริมให้นักเรียนได้เห็นแนวคิดที่หลากหลาย รูปแบบของโครงงานดาราศาสตร์ที่แตกต่าง เปิดโอกาสให้เกิดแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยให้นักเรียนไทยมีพลังในการเรียนรู้และกลับไปถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีแก่เพื่อนๆ ครู และครอบครัวได้
นางสาวกันต์กนิษฐ์ ผลพอตน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี กล่าวว่า รู้สึกดีและประทับใจมาก ที่ได้เป็นหนึ่งในตัวแทนนักเรียนไทย มาแลกเปลี่ยนความรู้และเผยแพร่งานที่ได้ทำสู่ผู้อื่น อีกทั้งยังได้ไอเดียจากการนำเสนอของเด็กญี่ปุ่นนำมาจุดประกายไอเดียต่อยอดให้กับน้องๆ ที่สนใจในการทำโครงงานดาราศาสตร์ รวมถึงได้เห็นอุปนิสัยของเด็กนักเรียนญี่ปุ่นส่วนมาก รักและสนใจในทางด้านดาราศาสตร์ โดยที่สิ่งเหล่านั้นเกิดมาจากตัวเด็กเอง
นอกจากการนำเสนอผลงานทางวิชาการแล้ว คณะครูและนักเรียนได้มีโอกาสเดินทางเยี่ยมชมสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่น National Astronomical Observatory of Japan หรือ NAOJ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำการศึกษาวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในเขตเมืองมิทากะ กรุงโตเกียว โดยได้เข้าชมท้องฟ้าจำลอง 4D2U ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แสดงถึงวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ทางดาราศาสตร์แบบใกล้ชิด และยังได้ชมกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้สำหรับศึกษาดวงอาทิตย์ที่ศึกษาผ่านช่วงความยาวคลื่นหลายๆ ค่า และนำมาวิเคราะห์ลักษณะและพฤติกรรมของดวงอาทิตย์
จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมหอดูดาวกุนมะ ซึ่งเป็นหอดูดาวที่ทำงานด้านการวิจัยและให้บริการดาราศาสตร์แก่เยาวชนและประชาชนที่สนใจ ชมกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เมตร และได้มีโอกาสเรียนรู้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 15-25 เซนติเมตร พร้อมฝึกควบคุมและหาตำแหน่งวัตถุบนท้องฟ้าด้วยตนเองอีกด้วย
นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมศูนย์อวกาศสึกุบะ เป็นองค์การวิจัยและพัฒนาสำรวจอวกาศญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่เมืองสึกุบะ ในจังหวัดอิบารากิ ได้มีโอกาสเห็นการทำงานของนักวิจัยในห้องปฎิบัติการ เยี่ยมชมสถานที่ฝึกอบรมนักบินอวกาศก่อนขึ้นไปปฏิบัติการจริง
การประชุมวิชาการดาราศาสตร์ระดับเยาวชนของสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น จัดขึ้นปีละหนึ่งครั้ง ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 20 เพื่อให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ได้มีเวทีนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ของตนเอง ซึ่งจัดในรูปแบบการนำเสนอแบบบรรยาย และการนำเสนอแบบโปสเตอร์