สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดฤดูกาลล่า “ทางช้างเผือก” เผยช่วงเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน จะเห็นใจกลางทางช้างเผือกเด่นชัด ทางทิศตะวันออก ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู สังเกตได้ทุกภูมิภาคของประเทศ บริเวณที่มืดสนิทไร้แสงเมืองรบกวน แนะชมต้นปีเป็นช่วงเวลาเหมาะสม ปลอดฝนแถมได้ภาพสวย ๆ มาเชยชม หลังเมษายนเป็นต้นไปเข้าช่วงมรสุม เสี่ยงฟ้าปิดโอกาสเห็นได้ยาก
ทางช้างเผือกเวลาประมาณ 05.30 น. ในเดือนกุมภาพันธ์ ตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่ไม่สูงจากขอบฟ้ามาก
พร้อมกับแสงสนธยาในช่วงรุ่งเช้าเนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์เริ่มจะโผล่พ้นขอบฟ้า (ภาพ : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์)
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปในช่วงรุ่งเช้า แนวใจกลางทางช้างเผือกจะเริ่มปรากฏบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ขนานกับเส้นขอบฟ้า ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู สังเกตเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. จนถึงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น นอกจากนี้ ยังมีดาวพฤหัสบดี ดาวอังคารและดาวเสาร์ปรากฏอยู่ใกล้กับใจกลางทางช้างเผือกอีกด้วย กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป เราจะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ แนวใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้ามากขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปลายเมษายน แนวใจกลางทางช้างเผือกจะค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางเป็นแนวพาดบริเวณกลางฟ้า ช่วงนี้จะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป สามารถชื่นชมความสวยงามและบันทึกภาพทางช้างเผือกได้ยาวนานขึ้น
ภาพจำลองตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกที่ปรากฏระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู
ทางช้างเผือกเป็นวัตถุท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อมองจากโลก สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ลักษณะเป็นแถบสว่างพาดเป็นแนวยาวกลางฟ้า ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ ใจกลางทางช้างเผือก (Galactic Center) คือส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือก ประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมาย อาทิ ดาวฤกษ์ กระจุกดาว เนบิวลา เป็นต้น แนวใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู ปรากฏบนท้องฟ้าในตำแหน่งที่เฉียงไปทางใต้ และเนื่องจากใจกลางทางช้างเผือกอยู่บริเวณกลุ่มดาวซีกฟ้าใต้ ทางภาคใต้ของไทยจึงมองเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกอยู่สูงจากมวลอากาศบริเวณขอบฟ้าและสูงจากขอบฟ้ามากกว่าภูมิภาคอื่น ชาวใต้จึงมีโอกาสสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ชัดเจนมาก
ช่วงเวลาที่สังเกตทางช้างเผือกได้ดีที่สุดคือ ปลายเมษายน-ต้นตุลาคม จะเห็นใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนูได้ง่าย ทางช้างเผือกบริเวณนี้จะสว่างและสวยงามกว่าบริเวณอื่นๆ และอยู่ในตำแหน่งกลางท้องฟ้าเกือบตลอดทั้งคืน แต่ในประเทศไทยเป็นช่วงฤดูฝน จึงมักมีอุปสรรคเรื่องเมฆและฝนตก แต่หากท้องฟ้าเปิดไม่มีเมฆฝนก็จะถือเป็นโอกาสดีที่สุดของการถ่ายภาพทางช้างเผือกในรอบปี หลังจากนั้นในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อุปสรรคเรื่องเมฆฝนจะเริ่มน้อยลง จะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้เกือบตลอดทั้งปี แต่ปัจจัยสำคัญคือสภาพท้องฟ้า หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดี ไม่มีแสงรบกวนทั้งแสงจากดวงจันทร์และแสงไฟจากเมือง ก็จะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน ผู้ที่อาศัยในเขตเมืองส่วนใหญ่มักไม่มีโอกาสได้ชมทางช้างเผือก เนื่องจากทัศนวิสัยของท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวย มีแสงไฟ ฝุ่นละอองและควันเป็นจำนวนมาก หากต้องการสัมผัสทางช้างเผือกอาจจะต้องเดินทางต้องเดินทางไปยังสถานที่ที่ห่างจากตัวเมืองอย่างน้อยประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อหลีกหนีจากมลภาวะทางแสงและฝุ่นละอองต่างๆ
สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ผู้ที่สนใจถ่ายภาพทางช้างเผือก ควรหาสถานที่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้เล็กน้อย เป็นพื้นที่มืดสนิทไม่มีแสงรบกวน ตั้งกล้องโดยหันหน้ากล้องไปที่ใจกลางทางช้างเผือก บริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนู เลือกใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ได้องศาการรับภาพที่กว้างมากขึ้น ปรับระยะโฟกัสของเลนส์ที่ระยะอนันต์ ใช้รูรับแสง ที่กว้างที่สุด พร้อมตั้งค่าความไวแสงตั้งแต่ 1600 ขึ้นไป ยังมีเคล็ดลับอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพทางช้างเผือกให้ได้ภาพที่สวยงาม น่าประทับใจอีกมากมาย สามารถติดตามได้ที่ www.narit.or.th นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย