วันนี้ (8 ธ.ค. 60) ที่บริเวณหาดสมิหลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. สาธิตการทำงานของหุ่นยนต์ทำความสะอาดชายหาดฝีมือคนไทยตัวแรกที่พัฒนาร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้โครงการ
” ปตท.สผ. รักษ์ทะเล รักษ์ชายหาด” เพื่อช่วยลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมและรักษาทัศนียภาพของชายหาด โดยมีนายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศบาลนครสงขลา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในโครงการ
ปตท.สผ.ได้ริเริ่มการพัฒนาหุ่นยนต์ทำความสะอาดชายหาดขึ้นในปี พ.ศ.2559 โดยได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี วิศวกรรม และการบริหารจัดการดูแลสิ่งแวดล้อม มาประยุกต์ใช้ในการศึกษา วิจัย ร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ทำความสะอาดชายหาดในการช่วยจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม
ดร.วินิตย์ หาญสมุทร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ปตท.สผ. กล่าวว่า หุ่นยนต์ทำความสะอาดชายหาดเป็นหนึ่งในตัวอย่างเทคโนโลยีสีเขียวที่เกิดจากความมุ่งมั่นของ ปตท.สผ. ในการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของบริษัท โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นการสนับสนุนภาคการศึกษาในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานจริงพร้อมกันไปด้วย
ด้านรศ.ดร. พฤทธิกร สมิตไมตรี จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ความร่วมมือกับ ปตท.สผ. ทำให้ได้พัฒนางานที่ตอบโจทย์ปัญหาของพื้นที่ไปพร้อมกับพัฒนานักศึกษาให้เกิดทักษะจากการลงมือทำจริงและแก้ปัญหาจริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้กับนักศึกษาโดยตรง
สำหรับจุดเด่นของหุ่นยนต์ทำความสะอาดชายหาดที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถจัดการขยะที่อยู่บนทรายหรือฝังตัวอยู่ในทราย โดยใช้ระบบตักผิวทรายที่มีเศษขยะและใช้ตะแกรงร่อนแยกเม็ดทรายออกจากเศษขยะได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มีขนาดกะทัดรัด สามารถเก็บขยะในบริเวณแนวต้นไม้ที่มักมีเศษขยะสะสม ซึ่งรถเก็บขยะขนาดใหญ่ที่ใช้กันอยู่นั้น ไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด และมีการติดตั้งแผงป้องกัน เพื่อไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียง เหมาะสมต่อการนำมาใช้ในแหล่งท่องเที่ยว และที่สำคัญ ยังสามารถผลิตได้เองในประเทศ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีแผนสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของหุ่นยนต์ทำความสะอาดชายหาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถของหุ่นยนต์ให้มากขึ้นก่อนนำไปปฏิบัติงานจริงในอนาคต