รองเลขาธิการ ศอ.บต. เข้ากราบนมัสการพระเทพสุธรรมญาณฯ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพระวิเชียรโมลีฯ ในโอกาสร่วมขับเคลื่อนงานช่วยเหลือชาวสยามในประเทศมาเลเซีย
วันนี้ (4 ก.พ. 2566) เวลา 14.00 น. นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. เดินทางไปยังวัดชัยมงคล พระอารามหลวง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เข้ากราบนมัสการพระเทพสุธรรมญาณ (แฉล้ม เขมปญฺโญ) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 18 เจ้าอาวาสวัดชัยมงคล พระอาราหลวง ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิพระวิเชียรโมลีฯ และเข้าพบ นายนิคม ยอดมณี เลขานุการมูลนิธิพระวิเชียรโมลี ในโอกาสร่วมขับเคลื่อนงานช่วยเหลือชาวสยามในประเทศมาเลเซีย ตามกระแสพระราชดำรัสสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปช่วยส่งเสริม “การเรียนการสอนภาษาไทยให้ชาวสยามในรัฐกลันตัน” เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อมูลโดยสังเขปของ พระเทพสุธรรมญาณ (แฉล้ม เขมปญฺโญ) เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2472 ปีจจุบันอายุ 94 ปี สำเร็จการการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดธรรมโฆษณ์ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนคณะจังหวัดสงขลา สังกัดวัดชัยมงคล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สอบไล่ได้เปรียญธรรม ประโยค 6 จากสำนักเรียนคณะจังหวัดสงขลา สังกัดวัดชัยมงคล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีความรู้พิเศษด้านภาษาขอม และมีความชำนาญการเทศนา ปาฐกถาธรรม การเผยแผ่ธรรม การอบรมพัฒนาจิต นวกรรมการออกแบบ การออกแบบการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน กับพระอาจารย์ภัททันตะอาสภมหาเถระที่จังหวัดชลบุรี และสามารถสวด พระภิกขุปาติโมกข์ได้ เจริญพระพุทธมนต์สูตรพิเศษได้ อ่านและเขียนอักษรขอมได้ ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล (พระอารามหลวง) เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสงขลา และได้รับพระราชทานเลื่อน สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่พระเทพสุธรรมญาณ สุวิธานศาสนกิจ นิวิฐธรรมสุนทร บวรสังฆาราม คามวาสี
สำหรับผลงานที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมที่ผ่านมา ท่านได้จัดตั้งมูลนิธิพระวิเชียรโมลี (แฉล้ม เขมปญฺโญ) เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่พระพุทธศาสนาการศึกษาและการกีฬา และจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิบัติธรรมพัฒนาจิตสนับสนุนการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวของสติปัฏฐาน 4 ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป นอกจากนั้น ท่านได้จัดตั้งเครือข่ายการเรียนรู้ของพระสงฆ์ในลุ่มน้ำทะเลสาบ ให้การช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย (คนสยาม) สำหรับกรณีการจัดทำหลักสูตรการศึกษา ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมไทย โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ แก่คนสยาม ในประเทศมาเลเซีย จนอ่านออกเขียนได้ และต้องการช่วยให้กลุ่มคนเหล่านั้น ซึ่งยังคงมีความรัก ความผูกพันในเชื้อชาติ ได้เรียนรู้ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมไทย การเรียนการสอนจะมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างเป็นระบบ และมีการคัดผู้ที่มีผลการเรียนดี ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จากรัฐต่าง ๆ เดินทางไปทัศนศึกษาในประเทศไทย อาทิ พระบรมมหาราชวัง ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา สุโขทัย เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา “โรงเรียนชัยมงคลวิทย์” เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนแออัด (สลัม) เขตเทศบาลนครสงขลา นักเรียน 100% ที่มีฐานะยากจน จึงได้มุ่งเน้นให้มีการอบรมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเป็นคนดีและมีวินัย โดยคณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ศรีวิชัยเข้าไปมีส่วนร่วมบริการวิชาการให้กับนักเรียนโรงเรียนชัยมงคลวิทย์ โดยจัดการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ
รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า “ศอ.บต. จะร่วมมือกับมูลลิธิพระวิเชียร์โมลีฯ ในการขับเคลื่อนงานและให้ความช่วยเหลือชาวสยามในประเทศเลเซีย โดยที่ผ่านมามีการประชุมเพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือในหลายประเด็น เช่น การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับชาวสยามให้มีความเป็นปัจจุบัน และตอบโจทย์ต่อการเรียนการสอนของชาวสยาม การผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษาไทย การอบรมครูผู้สอน การจัดหาทุนการศึกษาเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย การนําพระและประชาชนชาวไทยสยาม ไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทย (ศึกษารากเหง้าความเป็นไทย) และเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช การส่งเสริมอาชีพตามความสนใจของชาวสยาม การขอพระราชทาน “รางวัลพระราชทาน” จากสมเด็จพระสังฆราชฯ ให้กับนักเรียนที่ชนะการประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย การขอพระราชทานรางวัลครูดีเด่นประจําปี จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การวิจัยเกี่ยวกับความคงอยู่ของชาวสยามในรัฐกลันตัน และประเด็นอื่น ๆ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทํางานประสานงานและการให้ความช่วยเหลือชาวสยามในประเทศมาเลเซีย เพื่อให้คณะทำงานไปศึกษา และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันต่อไป”