ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนตุลาคม 2563 

Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนตุลาคม 256

                 ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

 

              ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนตุลาคม เปรียบเทียบเดือนกันยายน และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการข้อคำถาม กันยายน ตุลาคม คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 25.20 50.80 24.00 25.70 50.30 24.00 32.80 51.50 15.70
2. รายได้จากการทำงาน 25.30 49.80 24.90 26.20 49.90 23.90 36.80 52.40 10.80
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 34.80 50.30 14.90 35.30 49.10 15.60 38.20 51.30 10.50
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 27.20 48.60 24.20 27.00 49.40 23.60 35.40 51.90 12.70
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 28.50 49.20 22.30 28.70 48.50 22.80 28.20 49.30 22.50
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 27.30 51.40 21.30 27.60 50.50 21.90 35.60 45.80 18.60
7. การออมเงิน 27.90 48.60 23.50 27.50 48.90 23.60 36.50 50.40 13.10
8. ค่าครองชีพ 35.10 49.70 15.20 35.60 49.90 14.50 38.60 47.50 13.90
9. ภาระหนี้สิน 29.40 51.70 18.90 29.80 51.90 18.30 34.10 55.80 10.10
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 27.10 48.00 24.90 26.30 47.80 25.90 35.40 48.30 16.30
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 29.00 51.80 19.20 29.20 49.20 21.60 37.10 48.50 14.40
12. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 21.80 47.50 30.70 21.30 45.70 33.00 34.10 55.80 10.10
13. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 27.30 49.30 24.40 27.70 49.20 23.10 35.40 48.30 16.30
                       

 

 

    ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือน  สิงหาคม กันยายน และตุลาคม 2563

รายการข้อคำถาม สิงหาคม กันยายน ตุลาคม
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 41.90 42.40 42.70
2. รายได้จากการทำงาน 38.80 39.20 39.80
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 47.70 47.90 48.60
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 38.50 39.10 39.50
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 47.60 48.90 49.40
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 38.90 38.50 38.80
7. การออมเงิน 41.20 41.60 41.90
8. ค่าครองชีพ 42.70 43.00 43.30
9. ภาระหนี้สิน 44.60 44.90 45.20
 10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 37.20 36.50 35.80
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 51.30 50.70 49.10
12. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 33.20 32.80 31.50
13. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 35.30 35.90 36.40
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 41.30 41.80 42.60

 

                ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในเดือนตุลาคม ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม (42.60) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน (41.80)  แต่หากเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม พ.ศ.2562 ซึ่งอยู่ที่ 48.30 นับว่ายังน้อยกว่ามาก   ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมที่เพิ่มขึ้นนั้น ปัจจัยบวกคือ  ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ราคาทะลายปาล์มน้ำมันปรับตัวขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการใช้พลังงานไบโอดีเซลภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น จึงผลักดันให้ราคาทะลายปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  และปัจจัยบวกที่สำคัญที่สุด คือ ราคายางพาราได้ปรับตัวสูงขึ้น ล่าสุดราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ที่ ตลาดกลางยางพารา จังหวัดสงขลา พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุด 82.76 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคายางยังคงอยู่ในแนวบวกอย่างต่อเนื่อง และสูงสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือน โดยคาดกันว่า ราคายางในประเทศจะขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 90 บาทในอีกไม่นาน โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

  1. การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ มีความต้องการใช้ถุงมือยางจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำยางข้น ที่จะนำไปใช้ผลิตเป็นถุงมือยาง ส่งผลให้น้ำยางข้นมีราคาสูงขึ้น ในขณะที่การผลิตยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควัน รวมถึงเศษยางมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานผลิตล้อยาง และสินค้าอื่น ๆ  ดังนั้น เมื่อมีความต้องการสูง แต่สิ่งที่มีอยู่จำนวนน้อยกว่าความต้องการ จึงทำให้ราคายางแผ่นมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำยางข้นเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
  2. ยางพาราในตลาดมีจำนวนที่น้อยลงมาก เนื่องจากแรงงานพม่าซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ที่รับจ้างกรีดยางได้เดินทางกลับประเทศพม่าในช่วงที่ประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์ ทำให้ในปัจจุบันแรงงานพม่าอีกจำนวนมากยังไม่สามารถกลับเข้ามาในประเทศไทยได้
  3. สภาพอากาศในกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ เวียดนาม จีนตอนใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย มีฝนตกชุก เกิดน้ำท่วมขัง และมีพายุพัดผ่านหลายลูก ส่งผลให้ผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดน้อยลง
  4. ในช่วงเดือนตุลาคมซึ่งตรงกับกำหนดส่งมอบยางตามสัญญาซื้อขายที่ทำไว้ล่วงหน้า ทำให้ผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ยาง และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง ยังมีการเก็งกำไรเกิดขึ้นในประเทศ จนเกิดความกังวลว่าผลผลิตยางพาราจะไม่เพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของตลาดต่างประเทศ

                อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ยังคงอยู่ในระดับ 80 กว่าบาทต่อกิโลกรัม และอาจจะดีดตัวไปถึง 100 บาทต่อกิโลกรัมได้ และราคาจะทรงอยู่เช่นนี้อย่างน้อยไปจนถึงกลางปี พ.ศ.2564   แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งช่วงนั้นราคายางจะเริ่มตกลงตามลำดับ เนื่องจากความต้องการถุงมือยางได้ลดน้อยลง

                จากผลการศึกษา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นประชาชนภาคใต้ เดือนตุลาคม ดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย)  การออมเงิน รายได้จากการทำงาน และความสุขในการดำเนินชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรชาวสวนยาง เนื่องจากราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่รายจ่ายด้านการท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากช่วงเดือนตุลาคมนี้มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ในวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  และวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันปิยมหาราช ทำให้ประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งได้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศโดยใช้สิทธิ์จากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน นอกจากนี้รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนที่ได้รับสิทธิ์จากโครงการ “คนละครึ่ง” และเริ่มจับจ่ายใช้สอยกันตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งมียอดใช้จ่ายสินค้าอุปโภค – บริโภคแล้วกว่าพันล้านบาท

                ในขณะที่ ภาระหนี้สินที่สูงขึ้นเกิดจากผลพวงในช่วงล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการต่าง ๆ ต้องหยุดกิจการทำให้เกิดมีหนี้สินในช่วงดังกล่าว และในปัจจุบันกิจการที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้มีรายได้ลดลงเป็นอย่างมาก จึงมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ภาระหนี้สินเพิ่มพูนสูงขึ้นตามลำดับ  นอกจากนี้ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ปรับตัวลดลง อาจเป็นเพราะความกังวลกับสถานการณ์การเมือง การชุมนุมของคณะราษฏรและกลุ่มนักศึกษาที่เรียกร้อง 3 ข้อ ซึ่งทำให้ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยได้ออกมาเคลื่อนไหว ส่งผลต่อสังคมเริ่มมีความคิดต่างและเกิดการแบ่งแยกทางสังคม รวมถึงอาจจะเกิดการปะทะกันได้ หากเหตุการณ์บานปลายจนไม่สามารถควบคุมได้ 

                นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีการปรับตัวลดลงตลอดระยะเวลา 10 เดือน คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  ถึงแม้ว่ารัฐบาลพยายามออกโครงการต่าง ๆ มากมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก แต่กลับไม่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้เลย ถึงแม้โครงการต่าง ๆ ที่ออกมา เป็นโครงการที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะการดำเนินงานและการขับเคลื่อนโครงการยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ และไม่สามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ประกอบการและประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตไม่สามารถเข้าร่วมโครงการและไม่ได้รับสิทธิ์ อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเข้าร่วมโครงการ จึงควรให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีรถเคลื่อนที่คอยให้บริการ และช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง

                จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 พบว่า จุดเด่นมีข้อเดียว คือ การบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีมาก ส่วนจุดด้อย คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  ไม่มีการปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นตามที่ได้เคยกล่าวไว้  รัฐมนตรีในกระทรวงต่าง ๆ ไม่มีผลงานเด่นที่ชัดเจน  การดำเนินงานของหน่วยงานราชการกลับไปสู่แบบเช้าชามเย็นยามเสมือนในอดีตก่อนปีพ.ศ.2540 ในขณะที่ราชการมีรายได้และสวัสดิการดีกว่าภาคเอกชนจำนวนมาก แต่การให้บริการกลับแย่ลง เป็นเพราะภาครัฐไม่มีระบบประเมินการให้บริการจากประชาชนผู้ใช้บริการเหมือนหน่วยงานเอกชน

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.80 และ 36.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 38.20 และ 35.40 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 28.20 , 34.10 และ 35.40 ตามลำดับ

                 ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 25.40 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และการเมือง คิดเป็นร้อยละ 22.80 และ 13.10 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics