สรุปผลการสำรวจหาดใหญ่โพล HATYAI POLL
เรื่อง “ ความคิดเห็นต่อมาตรการกฎหมายจราจรช่วยลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์”
หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายช่วยลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนในภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วยจังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาสจังหวัดพัทลุง จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล จำนวน 400 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน 2560 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้
สถานภาพของกลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 60.00) มีอายุ 21- 30 ปี (ร้อยละ 38.50) รองลงมามีอายุ 31-40 ปี (ร้อยละ 25.00) และมีอายุ 18-20 ปี (ร้อยละ 13.00) ตามลำดับ โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนและนักศึกษา (ร้อยละ 21.50) รองลงมา รับจ้างทั่วไป ประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย และอาชีพพนักงานบริษัท/ลูกจ้าง คิดเป็นร้อยละ 18.25 16.25 และ 14.50 ตามลำดับ
สรุปผลการสำรวจ
รองศาสตราจารย์ทัศนีย์ ประธาน รักษาการผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีการวางแผนการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ร้อยละ 75.00) โดยที่ประชาชนจะเที่ยวภายในจังหวัด มากที่สุด (ร้อยละ 41.00) ส่วนความรู้สึกกังวลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ประชาชนกังวลในเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด (ร้อยละ 39.00) รองลงมา เป็นความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ร้อยละ 22.50) และพฤติกรรมของคนเมาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ร้อยละ 21.50) ตามลำดับ และเมื่อสอบถามถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ ประชาชนร้อยละ 38.50 เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ มากที่สุด คือ ความประมาท/เลินเล่อของผู้ขับขี่รถ รองลงมา คือ การใช้รถจำนวนมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ร้อยละ 32.00) ตามลำดับ
ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.75 เห็นว่ามาตรการ “ การไม่อนุญาตให้คนนั่งท้ายรถกระบะขณะขับรถในถนนสายหลัก” ไม่สามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้ ประชาชนร้อยละ 50.75 เห็นว่าพระราชบัญญัติจราจรฉบับใหม่จะสามารถช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ (ร้อยละ 50.75)
ส่วนการกระทำผิดกฎจราจร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยทำผิดกฎจราจร (ร้อยละ 66.00) ประชาชนร้อยละ 53.00 เห็นว่าการหักเปอร์เซ็นต์การเสียค่าปรับให้ตำรวจไม่เหมาะสม โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ตำรวจจะทำงานเพื่อเปอร์เซ็นต์ที่ได้จากการเสียค่าปรับ มากที่สุด (ร้อยละ 39.59) รองลงมา เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง (ร้อยละ33.50) และสามารถกลั่นแกล้งผู้ขับขี่รถ (ร้อยละ 26.90) ตามลำดับ
ส่วนมาตรการที่ประชาชนเห็นว่าสามารถช่วยลดอุบัติเหตุ มากที่สุด เป็นการตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 21.00) รองลงมา รถยนต์ขับได้ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ร้อยละ 20.25) ยึดใบอนุญาตขับขี่/ ยึดรถ (ร้อยละ 12.25) งดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 11.50) และจับรถจักรยานยนต์ที่ขี่ย้อนศร (ร้อยละ 10.75) ตามลำดับ