สสส.ลงพื้นที่ จ.สงขลา หนุนกิจกรรม ‘พุงพลุ้ย.. หนูนุ้ย ไม่อ้า..วแล้ว’

Spread the love

สสส.ลงพื้นที่ จ.สงขลา หนุนกิจกรรม ‘พุงพลุ้ย.. หนูนุ้ย ไม่อ้า..วแล้ว’ หวังรณรงค์ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)

      วันพฤหัสที่  27 กันยายน  2561  ที่โรงเรียนบ้านคลองหอยโข่ง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา นายดนัย  หวังบุญชัย  ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะ ร่วมเปิดนิทรรศการ “พุงพลุ้ย.. หนูนุ้ย ไม่อ้า..วแล้ว” กิจกรรมภายใต้โครงการ “สร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์ลดน้ำหนักในเด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อการส่งเสริม สุขภาพ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)” ปีที่3 ในภูมิภาคระยะที่ 1 โดยมี นายธัชชนันท์ จันทโกศล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองหอยโข่ง คณะครู อาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง เข้าร่วมกิจกรรม


     นายดนัย  หวังบุญชัย  ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์ลดน้ำหนักในเด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)” เป็นโครงการที่แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้าง เสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำงานร่วมกับสำนักโภชนาการสมวัย สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เครือข่ายคนไทยไร้พุง และชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการใช้สื่อ และกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย มุ่งใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ มีการถ่ายทอดให้เกิดแรงบันดาลใจ เพื่อการสื่อสารสุขภาวะ ในหัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โดยให้ความสำคัญกับครูผู้สอน เด็กนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน ในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning)

      กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ ได้แก่ นักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานโครงการ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)” ปี 2 พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของนักเรียนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ มีการเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ หลังดำเนินโครงการฯ ความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของนักเรียนโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ มาตรฐาน (สมส่วน) เพิ่มขึ้น ท้วมหรืออ้วนสูงลดลงเล็กน้อย ส่วนกลุ่มที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ผอม) ยังคงมีเท่าเดิม

      โดยภาพรวมการดำเนินงานเป็นที่น่าพึงพอใจของทุกฝ่าย แต่ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานที่มีอยู่บ้าง คือ ผู้รับผิดชอบโครงการจำนวนหนึ่งยังไม่เข้าใจในตัวโครงการฯ อย่างชัดเจน เช่น วัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการฯ วิธีการดำเนินโครงการฯ ผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินโครงการฯ จึงส่งผลให้การจัดทำกิจกรรม สื่อ หรือนวัตกรรม ไม่สอดคล้อง ไม่น่าสนใจ ไม่มีเอกลักษณ์ตามบริบทและภูมิสังคมของพื้นที่ รวมทั้งยังไม่ตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ประการต่อมา ระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ มีอยู่อย่างจำกัด การขอความร่วมมือจากร้านค้าในพื้นที่ในชุมชน และบริเวณโดยรอบโรงเรียน ยังทำได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้เด็กนักเรียนยังมีช่องทางในการซื้อ อาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมาบริโภค ส่วนคณะทำงานมีไม่เพียงพอ แต่ละคนมีภารกิจมากเกินไป สุดท้าย คือ ผู้ปกครองและชุมชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่


       สำหรับในปีนี้ ได้มีการต่อยยอดและขยายผลไปยังโรงเรียนต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 25 แห่ง จาก 22 จังหวัด ใน 4 ภูมิภาค ครอบคลุมนักเรียนตังแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา ประมาณ 1,800 คน ทั้งนี้ โรงเรียนที่เป็นต้นแบบใน 25 โรงเรียนนี้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กในโรงเรียนให้เข้าใจและเท่าทันโรคอ้วน โรงเรียนบ้านคลองหอยโข่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลาเขต 2 ก็เป็น 1 ในโรงเรียนต้นแบบครั้งนี้

       ด้านนายธัชชนันท์ จันทโกศล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองหอยโข่ง กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ โรงเรียนบ้านคลองหอยโข่งได้นำ ‘หนูนุ้ย’ ตัวละครในหนังตะลุง ที่มีลักษณะพุงยานโย้ มาเป็นสัญลักษณะเพื่อสร้างแรงบันดานใจให้เด็กลดพุงด้วยกิจกรรม 3 ฐาน อาทิ รู้จักเลือก รู้จักคิด กินให้เป็นกับหนูนุ้ย, หยับกายสไตล์หนูนุ้ย และกินบายบายสไตล์หนูนุ้ย โดยในแต่ละฐานนั้น เมื่อเด็กได้ทำจะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับตัวหนูนุ้ยที่อยู่ในแต่ละฐานว่าจะค่อยๆ มีพุงที่เล็กลง และหุ่นดีขึ้น ซึ่งจากการดำเนินโครงการเพียงแค่ 4 เดือนสังเกตุได้ว่าเด็กๆ กลุ่มเป้าหมายจำนวนว่า 30 คน มีน้ำหนักลดลงกว่า 80% และรู้จักการเลือกรับประทานอาหารตามหลักสัญญาณไฟจราจรเป็น และยังสามารถปรับประยุกต์การเล่นมอ วิ่งกระสอบ และอื่นๆ มาใช้เล่นไปอิกกำลังกายไปได้ สำหรับเป้าหมายระยะถัดไปจะมีการขยายผลให้เด็กทั้งโรงเรียนมีส่วนร่วม พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมไปถึงชุมชนใกล้เคียงหันมารับรู้และหันมาร่วมโครงการมากขึ้นด้วย

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics