มรภ.สงขลา นำเสนออัตลักษณ์อาหาร “เปอรานากัน” จ.สตูล ผลักดันสู่การสร้างมูลค่าระดับสากล
มรภ.สงขลา จัดกิจกรรมนำเสนออาหารเปอรานากัน สะท้อนอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรม จ.สตูล ปูทางสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มระดับสากล ควบคู่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติด้านอาหาร การแต่งกาย สถาปัตยกรรม ภาษาท้องถิ่น หวังช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้น
รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานเปิดโครงการเพิ่มศักยภาพชุมชน Soft Power บนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น กิจกรรมจัดงานสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมเพื่อนำเสนออัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมเปอรานากัน จังหวัดสตูล ผ่านการนำเสนออาหารเปอรานากัน ณ บริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล (คฤหาสน์กูเด็น) ต.พิมาน อ.เมืองสตูล จ.สตูล เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 โดยมี นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล (อบจ.สตูล) และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย นอกจากนั้น ยังมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ศิลปวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่นเปอรานากัน จังหวัดสตูล ณ สมาคมเปอรานากันสตูล พิธีเปิดการสัมมนาโดย ผศ.ดร.อนุมัติ เดชนะ รองอธิการบดีวิทยาเขตสตูล
โอกาสเดียวกันนี้ รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ พร้อมด้วย ผศ.ดร.อนุมัติ เดชนะ ผศ.ดร.บรรจง ทองสร้าง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม พร้อมด้วยคณาจารย์ มรภ.สงขลา ได้ร่วมพิธีเปิดงาน Satun Halal Street 2024 ครั้งที่ 5 ณ บริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล (คฤหาสน์กูเด็น) ระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน 2567 จัดโดย อบจ.สตูล ร่วมกับชมรมผู้ประกอบอาหารฮาลาลจังหวัดสตูล เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวฮาลาลให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย พร้อมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านฮาลาลแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดสตูล
รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ กล่าวว่า กิจกรรมที่สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา จัดขึ้นนี้ มุ่งสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการนำเสนออัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมเปอรานากัน จังหวัดสตูล เพื่อส่งเสริมและผลักดัน Soft Power ศิลปะวัฒนธรรมเปอรานากันที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสตูล สู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มในระดับสากล ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติด้านต่าง ๆ อาทิ อาหาร การแต่งกาย สถาปัตยกรรม ภาษาท้องถิ่น วิถีชีวิต และกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดสตูล ทั้งธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในฐานะที่ มรภ.สงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจในการจัดการศึกษา วิจัยบริการวิชาการ บูรณาการศิลปวัฒนธรรมสร้างคุณค่าและมูลค่า บทบาทและพันธกิจของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ จึงได้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมในการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ให้มีศักยภาพในการจำหน่าย สร้างรายได้ในชุมชนท้องถิ่น และสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญามาประยุกต์ใช้ให้เกิดมูลค่าตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผสมผสานกับกลยุทธ์การสร้างคุณค่าและมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยชุมชนเป้าหมายในพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัยราชภัฎ 38 แห่งทั่วประเทศ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.skru.ac.th/view_photo/photo1.php?album=2024090302