ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2566   

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2566   
Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2566               

                      ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

                      ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2566 เปรียบเทียบเดือนธันวาคม 2565 และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการข้อคำถาม ธันวาคม 2565 มกราคม 2566 คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 27.90 47.20 24.90 28.30 47.40 24.30 32.10 50.70 17.20
2. รายได้จากการทำงาน 27.20 45.10 27.70 27.40 45.20 27.40 33.50 49.40 17.10
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 28.40 47.50 24.10 28.70 46.40 24.90 34.60 45.20 20.20
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 26.40 46.30 27.30 27.20 45.80 27.00 32.10 46.30 21.60
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 26.90 48.70 24.40 27.30 48.40 24.30 30.30 48.60 21.10
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 26.70 46.80 26.50 26.90 47.20 25.90 34.70 51.70 13.60
7. การออมเงิน 25.80 48.60 25.60 26.10 48.90 25.00 30.40 48.90 20.70
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 28.90 46.50 24.60 28.70 47.80 23.50 30.10 54.60 15.30
9. การลดลงของหนี้สิน 28.10 47.40 24.50 28.50 48.60 23.90 34.20 57.20 8.60
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 26.50 46.70 26.80 26.80 46.90 26.30 35.60 51.30 13.10
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 27.20 42.50 30.30 27.10 43.20 29.70 33.80 48.80 17.40
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 27.40 42.70 29.90 27.20 42.50 30.30 32.80 54.10 13.10
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 29.80 44.70 25.50 29.70 45.60 24.70 36.80 48.60 14.60
                       

 

 ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2565 และมกราคม 2566

รายการข้อคำถาม 2565 2566
พฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 47.10 47.80 48.10
2. รายได้จากการทำงาน 42.70 43.20 43.70
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 57.20 57.60 57.80
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 48.30 49.40 49.50
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 49.80 49.90 50.20
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 41.30 41.70 42.30
7. การออมเงิน 40.40 40.50 41.00
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 39.50 39.70 39.80
9. การลดลงของหนี้สิน 47.50 47.80 47.90
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 42.90 43.10 43.40
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 41.00 40.70 40.60
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 35.60 35.50 35.30
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 33.50 34.20 34.90
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 43.70 44.30 44.60

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนมกราคม 2566 (44.60) ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 (44.30) และเดือนพฤศจิกายน 2565 (43.70) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ การลดลงของหนี้สิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่  การท่องเที่ยวและเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 กลับมามีบรรยากาศคึกคักอีกครั้งในรอบ 2 ปี ทั้งจากคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และชาวต่างชาติเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงปีใหม่ 2566 นี้ ประชาชนมีการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัดจำนวนมาก โดยการเดินทางท่องเที่ยวมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มที่เดินทางเพื่อการท่องเที่ยวพักค้าง และการเดินทางท่องเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับบ้านเพื่อเยี่ยมญาติและมีการท่องเที่ยวระหว่างเส้นทาง  จากการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ 2566 คาดว่ามีเม็ดเงินกระจายสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท และในเทศกาลวันปีใหม่นี้ทางหน่วยงานรัฐและเอกชนในหลายพื้นที่ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักมากขึ้นอีกครั้ง

จากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นนั้น เป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับประเทศไทย ทั้งภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการปรับตัวในทิศทางบวกแบบค่อยเป็นค่อยไป คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 (ก่อนการระบาดของโควิด 19)  ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องดีขึ้นในทุกภาคส่วน ไม่ใช่จะมองแค่เพียงภาคการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว  หากมองโดยภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ยังมีสัญญาณของความเปราะบางที่สะท้อนให้เห็นหลายประการ เช่น สินเชื่อที่ถูกจัดชั้นว่ามีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยังมีการค้างชำระเป็นสัดส่วนสูงแม้จะพ้นช่วงโควิด-19 มาแล้ว ภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว  อีกทั้ง นโยบายส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐก็ลดลงตามงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด หลังจากเม็ดเงินกระตุ้นพิเศษภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้าน และ 5 แสนล้าน ที่หมดลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังเป็นประเด็นอยู่มาก เช่น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ข้อพิพาทระหว่างจีน-ไต้หวัน รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งในปี 2566 ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาคการผลิตและการลงทุนของธุรกิจ

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น  แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

  1. ประชาชนมีความกังวลกับราคาสินค้าและบริการที่มีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปีใหม่ ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งจึงถือโอกาสขึ้นราคาสินค้าและบริการ  โดยให้เหตุผลว่า มีต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น  ทั้งนี้ ครัวเรือนส่วนหนึ่งมองว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รายได้เท่าเดิมหรือลดลง ส่งผลให้รายได้ไม่พอต่อค่าใช้จ่ายทำให้ต้องเป็นหนี้เพิ่มขึ้น  ประชาชนจึงต้องการให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มรากหญ้า รวมถึงประชาชนที่มีรายได้น้อย
  2. ถึงแม้ว่าภาคการท่องเที่ยวและบริการจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้รายได้ของผู้ประกอบการจำนวนมากดีขึ้น และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างจากผู้ประกอบการที่อยู่นอกเมือง และไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว โดยส่วนหนึ่งรายได้ยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้ จึงเสนอแนะให้รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ  โดยเฉพาะพื้นที่นอกเมืองและไม่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นในทุกพื้นที่
  3. ประชาชนส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา มีการตั้งด่านบนถนนจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า เพื่อปกป้องและดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่บนท้องถนน แต่ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่า การตั้งด่านส่วนใหญ่เพื่อเรียกเก็บผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับข่าวที่มีเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินจากนักท่องเที่ยว  ประชาชนจึงเสนอต่อภาครัฐให้ยกเลิกการตั้งด่าน และกำหนดให้การตั้งด่านเป็นความผิดทางกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องได้รับโทษตามกฎหมาย

                ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.10 และ 33.50  ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.60 และ 32.10 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 30.30

32.80 และ 36.80 ตามลำดับ

                สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการได้รับจากภาครัฐเป็นของขวัญปีใหม่ คือ 1) เงินอุดหนุนช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย  2) โครงการคนละครึ่งเฟส 6 และ 3) การลดค่าสาธารณูปโภค และบริการสาธารณะ  ในส่วนของปัญหาที่ประชาชนต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ  คือ 1) การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 2) การช่วยเหลือภาระหนี้สินของประชาชนฐานราก  และ 3) การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอย

 

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics