OR ผุดโอไรออนรุกน็อนออยล์ สปีดแผนลงทุน 2 แสนล้าน

Spread the love

OR ผุดโอไรออนรุกน็อนออยล์ สปีดแผนลงทุน 2 แสนล้าน
“โออาร์” กางแผนลงทุน 10 ปี 2 แสนล้าน ผุดหน่วยม้าเร็ว “ORion” ติดปีกเครือข่ายพันธมิตร 7 สาขาธุรกิจ เป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกำไรน็อนออยล์ สร้าง EBITDA 4 หมื่นล้าน ปี’73 ชูกลยุทธ์เชื่อมต่อบริการครบวงจรออฟไลน์-ออนไลน์ “O2O” ปั้นแอปบริการครบจบในจุดเดียว “All in One App” รับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่
 
 
หลังจากนางสาวจิราพร  ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่และทิศทางการดำเนินธุรกิจของ OR สู่เป้าหมายปี 2030 (2573) หรือ OR 2030 Goals เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจตอบสนองการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ วิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภค
 
 
โดยจะเน้นการเติบโตแบบ Outside-In หรือการเติบโตโดยการเข้าไปร่วมมือกับธุรกิจที่สร้างจากพันธมิตรภายนอก โดย OR จะเป็น Inclusive Growth Platform พร้อมเตรียมงบประมาณลงทุน 200,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปี วางเป้าหมายจะเพิ่ม EBITDA มากกว่า 40,000 ล้านบาท โดยกว่า 50% จะมาจากการเติบโตร่วมกับพันธมิตรของ OR ปัจจุบันโออาร์มีเครือข่ายพันธมิตรเอสเอ็มอีแล้ว 13,000 ราย และเครือข่ายธุรกิจ B2B แล้ว 2,600 ราย ความเคลื่อนไหวล่าสุดโออาร์ได้ตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว “ORion” เดินหน้าทันที
 
นางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการ ORion เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการ ORion เป็นหน่วยงานพิเศษที่แยกออกมาจากหน่วยงานกลยุทธ์ ปฏิบัติงานขึ้นตรงกับซีอีโอ จะดูแลโครงสร้างงาน 7 ด้าน จากปัจจุบันโครงสร้างการทำงานของโออาร์แบ่งเป็นโออาร์โฮลดิ้ง (พีทีทีโฮลดิ้ง) เป็นลำดับรองลงมา จากแบ่งย่อยเป็นสิงคโปร์โฮลดิ้งที่เน้นการลงทุนในต่างประเทศ
 
 
และบริษัทมอดูลัส เวนเจอร์ เน้นดูเรื่องการลงทุนภายในประเทศ และสิงคโปร์โฮลดิ้ง (PTTOR International Holding (Singapore)) ที่ดูต่างประเทศ เป้าหมาย ORion เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ขับเคลื่อนตามนโยบายมิชชั่นของโออาร์ คล้ายกับทีม ExpresSo ของ ปตท. แต่ ORion จะไม่ได้มุ่งแค่เรื่องสตาร์ตอัพ
 
“การสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ หรือ Seamless Mobility ต่อไปทุกอย่างไม่ใช่แค่รถที่ใช้น้ำมัน อีวี และเราจะเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการดำเนินชีวิตอย่างครบวงจรในทุก ๆ ไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มกาแฟ ทานอาหาร หรือท่องเที่ยว อาจเรียกกว่าโออาร์จะอยู่กับคุณไปตลอดทั้งวัน เป็น One Stop Solution for all life style
 
ปัจจุบันเรามีสิ่งที่เรียกว่า physical store มีสาขา 2,000 แห่ง และจะขยายเพิ่ม 100 แห่ง เพื่อทำให้คนใช้ชีวิตสะดวกมากขึ้น โดยกำลังจะสร้าง Digital Platfrom และกำลังจะเชื่อม physical และ Digital แพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า O2O คือ Offline to Online Ecosystem ภาพใหญ่ที่จะทำจากโมบิลิตี้ต่อไปสู่เรื่องไลฟ์สไตล์ทุกเรื่อง”
 
 
สำหรับขอบข่ายงาน 7 ด้าน จะครอบคลุม เรื่องที่
1) การขับเคลื่อน (Mobility) ทุกอย่างอย่างไร้รอยต่อ เน้นพัฒนาธุรกิจแพลตฟอร์มซ่อมบำรุงยานยนต์เชื่อมต่อธุรกิจออฟไลน์และออนไลน์ (O2O Maintenance Platform) ธุรกิจผู้แทนจำหน่ายและซ่อมบำรุงยานยนต์ (Dealership & Authorized Workshop for OEM) และธุรกิจให้บริการการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Services)
 
2.การท่องเที่ยว (Tourism) เน้นพัฒนาธุรกิจแพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว (Tourism-related Platform) และสินทรัพย์ที่เชื่อมต่อธุรกิจออฟไลน์และออนไลน์อย่างไร้รอยต่อ (Physical Assets for Seamless O2O)
 
3.Food & Beverage (F&B) เน้นพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจร้านอาหาร (Restaurant Enabler) และแพลตฟอร์มดิจิทัลบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหาร (Supply Chain Enabler)
 
4.สุขภาพ (Health & Wellness) เน้นพัฒนาธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการในธุรกิจด้านสุขภาพ (Digital Healthcare Solution) ธุรกิจด้าน Wellness และการเชื่อมต่อการให้บริการผ่านรูปแบบ Omni Channel (O2O Integration)
 
5.Empowering SMEs: เน้นพัฒนาธุรกิจที่แก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs Retail Solution) พัฒนาเครื่องมือสำหรับตลาดแรงงาน (Marketplace for Freelancer) และการนำเครื่องมือมาใช้ยกระดับการขายออนไลน์ (e-Commerce Enabler)
 
6. All In One App: เชื่อมต่อการขายสินค้าและบริการจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์ภายใต้ธุรกิจ Mobility และ Lifestyle ครอบคลุมระบบนิเวศ (Ecosystem) ของ OR และ 7.Venture Capital สนับสนุนการลงทุนในสตาร์ตอัพและกองทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม
 
มุ่งสร้าง All in One App
สำหรับ OR 2030 Goals ได้กำหนดเรื่องการมุ่งเป็น “All in One App” ใน 4 ด้านหลัก ด้าน Seamless Mobility จะเพิ่มจุดชาร์จ DC Fast Charger 7,000 จุด ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 5,4000 แห่ง ในสถานประกอบการ และเพิ่มการบริการ FIT Auto สำหรับรองรับอีวีได้ 100% ด้าน All Lifestyles คือการเพิ่มทราฟฟิกผู้ใช้บริการ 14 ล้านคนต่อวัน สร้างแบรนด์สินค้าของโออาร์เป็นท็อปออฟไมนด์ของผู้บริโภคตลอด 24 ชั่วโมง
 
การพัฒนา OR Innovation ต้นแบบขององค์กรในศตวรรษที่ 21 ที่ให้ความสำคัญกับผู้คน สิ่งแวดล้อม และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และด้านการขยายตลาดระหว่างประเทศ (Global Market) เป้าหมายไปยัง 100 ประเทศ พาแบรนด์ไทย 10 แบรนด์ไปสู่ระดับโลก
 
ตอนนี้เบื้องต้นเตรียมพัฒนาแอปพลิเคชั่นเชื่อมโยงไลฟ์สไตล์ All in One เริ่มจากธุรกิจ F&B ท่องเที่ยว สุขภาพ และกำลังหารือกับพาร์ตเนอร์เป็นคนไทยที่ทำระบบอยู่แล้ว นำร่องฟีเจอร์มาตรฐานเน้นช่วยเอสเอ็มอีเติบโตไปด้วยกัน ช่วยคนใช้ชีวิตสนุกขึ้น ให้คนไปหาข้อมูล จอง จ่าย เชื่อมระหว่างฟิซิคอลกับดิจิทัล วางกรอบการทำงานเป็น 4 เฟส เฟสละ 2 ปี
 
นับจากปลายปี 2565 เฟสแรก ไปถึงปี 2569 เชื่อมโยงร้านค้าทั้งในเครือข่ายและนอกเครือข่ายเข้าสู่ระบบออนไลน์ (เหมือนลาซาด้า) คนมาใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มอาจจะได้เรฟเวนิวจากตรงนั้น คนใช้จะได้ประสบการณ์ใหม่ในการรับบริการมากขึ้น เป้าหมายปีแรกคาดว่าจะมีผู้บริการ 5 แสนคน ร้านค้าหลักหมื่นร้าน จากนั้นจะเพิ่มเพิ่มต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เฟสแรก 2 เท่า แต่หลักคือจะเพิ่มขอบข่ายการใช้งานตอบสนองชีวิตประจำวันให้มากขึ้น
 
หนุนช่วยลดต้นทุนร้านอาหาร
น.ส.รังสิยากล่าวว่า เป้าหมายหลักของการตั้ง ORion นี้จะเป็นการเข้าไปช่วยเครือข่ายพันธมิตรโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและมีกำไรมากขึ้น ยกตัวอย่างในธุรกิจฟู้ดแอนด์เบฟเวอเรจส์ ซึ่งจะเป็นธุรกิจแรกที่จะเข้าไปช่วย จะไม่ใช่แค่การจัดหาร้านอาหารเข้ามาอยู่ในเครือข่ายอย่างเดียว
 
แต่หลักสำคัญจะเข้าไปหาแนวทางทุกอย่าง ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อให้ธุรกิจพันธมิตรเติบโตแข็งแกร่ง เช่น ต้นน้ำจะช่วยเรื่องการจัดหาพื้นที่ การจัดหาวัตถุดิบ โดยมีโจทย์ว่า ทำอย่างไรจะทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อาจจะต้องจัดหาวัตถุดิบ “ร่วมกัน” เพื่อช่วยให้ต้นทุนวัตถุดิบถูกลง ขณะเดียวกันก็ต้องซื้อวัตถุดิบด้วย “ราคาที่เป็นธรรม” กับชาวสวนชาวไร่ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าแหล่งที่มาวัตถุดิบนั้นมาจากที่ใด
 
ส่วนร้านอาหารจะดูแลระบบการจอง การจัดทำโปรโมชั่น รวมถึงการวางระบบเพื่อลดของเสียร้านอาหาร เพื่อลดปริมาณขยะอาหาร เรียกว่าดู “ระบบนิเวศของธุรกิจอาหาร” ทั้งหมด ในส่วนของงบประมาณการลงทุน เป็นไปตามแผนของบริษัท OR ที่ได้ประกาศไปแล้ว
 
ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับร้านอาหารว่าจะเป็นรูปแบบใด ซึ่งหลักการจะไม่ใช่แค่การดึงหรือสร้างธุรกิจชนิดใหม่อย่างเดียว แต่เรากำลังจะช่วยเรื่องระบบ ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการต้นทุนให้ดีขึ้น อาจเป็นการสร้างระบบที่ทุก ๆ ร้านสามารถนำไปใช้ร่วมกันได้ เช่น การจัดหาวัตถุดิบร่วมกัน เป้าหมายโออาร์ต้องการสนับสนุนคนตัวเล็ก ต้องการให้เขาเติบโตมากขึ้น ประโยชน์คือร้านจะได้ต้นทุนถูกลง ชาวสวนได้ราคาเป็นธรรม และผู้บริโภคได้รับโปรโมชั่นหรือดีลเด็ด
 
ชูท่องเที่ยวชุมชนกระตุ้นรายได้
ขณะที่ตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ OR จะยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน (Living Community) ซึ่งครอบคลุมทั้งในพื้นที่ที่ OR ดำเนินธุรกิจและชุมชนรอบพื้นที่ธุรกิจ มากกว่า 15,000 ชุมชน ประชาชนกว่า 12 ล้านคน รวมถึงการสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพทำให้เกิดผู้ประกอบการขนาดย่อม (NSMEs) 1 ล้านรายนั้น
 
เดิมที ปตท.มีแผนพัฒนาธุรกิจโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน แต่โออาร์มองถึงการส่งเสริมพาร์ตเนอร์ในท้องถิ่นให้เติบโตไปด้วยกัน ดังนั้นเรื่องท่องเที่ยวจะเน้นเรื่องการสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งไม่เพียงจะมีองค์ประกอบคือแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างอโกด้า แต่ OR จะเข้าไปทำ 3 สิ่ง คือ ต้องดูแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนมีอะไร ทำคอนเทนต์ให้เขา และทำระบบการจอง การทำโปรโมชั่นต่าง ๆ ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่งจะทำให้เรื่องนี้ไม่เกิด ดังนั้นเราจะมีกลไกไปตั้งไข่ให้ชุมชน โดยที่สนับสนุนให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน
Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics