ผู้ประกันตน มาตรา 40 รับเยียวยา 5 พันบาท

Spread the love

เช็คสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ม.40 หลังรัฐบาลพร้อมจ่ายชดเชย 5,000 บาท/คน ช่วยล็อกดาวน์ 14 วัน มีข้อเเม้ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ภายใน ก.ค.

ในที่สุดรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาเร่งด่วนให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบใน 10 จังหวัด ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากประกาศล็อกดาวน์ 14 วัน ใน 9 กลุ่มกิจการ เป็นเวลา 1 เดือน

เเน่นอนว่า การเยียวยารอบนี้ครอบคลุมผู้ที่มีอาชีพอิสระ หรือเป็นนายตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น พ่อค้าเเม่ค้า วินจักรยานยนต์รับจ้าง หลังจากไม่ได้รับการเหลียวเเล ซึ่งรอบนี้รัฐบาลจัดให้แล้ว โดยมอบเงินคนละ 5,000 บาท แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องไปขึ้นทะเบียนประกันสังคมมาตรา 40 ก่อน ให้เสร็จภายใน ก.ค. นี้ โดยขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกพื้นที่เเละเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม

แล้วจะต้องเริ่มต้นอย่างไร ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ประกันสังคมมาตรา 40 ผู้จะลงทะเบียนได้ต้องมีอายุ 15-60 ปี ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 ข้าราชการ หรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม

โดยสามารถเลือกจ่ายเงินสมทบได้ 3 ทางเลือก แต่ละทางเลือกจะได้รับสิทธิประโยชน์เเตกต่างกันไป

ทางเลือกที่ 1 : ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท/เดือน รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย

ทางเลือกที่ 2 : ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท/เดือน รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ(รับบำเหน็จ)

ทางเลือกที่ 3 (ทางเลือกใหม่) : ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท/เดือน รับสิทธิประโยชน์ 5 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ(รับบำเหน็จ) และสงเคราะห์บุตร

ทั้งยังได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีนอนพักรักษาตัวในสถานพยาบาลวันละ 100 บาท กรณีไม่นอนพักรักษาตัวในสถานพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่สามวันขึ้นไปได้รับวันละ 200 บาท (สำหรับทางเลือกใหม่กรณีนอนพักรักษาตัว กับไม่นอนพักรักษาตัว รวมกันไม่เกิน 90 วันต่อปี)

อีกทั้งเพิ่มระยะเวลาการรับสิทธิกรณีทุพพลภาพเป็นตลอดชีวิต เพิ่มค่าทำศพเป็น 40,000 บาท เพิ่มเงินบำเหน็จชราภาพเป็นเดือนละ 150 บาท และหากส่งครบ 180 เดือนให้เงินเพิ่มอีก 10,000 บาท เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรคนละ 200 บาทคราวละไม่เกินสองคนตั้งแต่แรกเกิดแต่ไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ซึ่งหลักเกณฑ์การเพิ่ม (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 61)

 

สิทธิประโยชน์พื้นฐานประกันสังคมใหม่ ประกันสังคม มาตรา 40

• กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย

– เมื่อนอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 200 บาทต่อวันไม่เกิน 30 วันต่อปี เงื่อนไขจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือน (การรักษาพยาบาลใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

– เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เพิ่มเป็นวันละ 300 บาท สำหรับกรณีนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเบิกได้ตั้งแต่วันแรกที่นอนโรงพยาบาล 

– กรณีไม่ได้นอนพักรักษาตัวแต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้วันละ 200 บาท

– กรณีมีใบรับรองแพทย์ ให้หยุดพักรักษาตัว 1-2 วัน ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 50 บาท แต่ไม่เกินคนละ 3 ครั้งต่อปี

– เพิ่มเงินสงเคราะห์กรณีตาย 3,000 บาท เมื่อส่งสมทบมาแล้ว 60 เดือน

• กรณีชราภาพ เงินบำเหน็จชราภาพ หากส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนจะได้รับเงินเพิ่มจำนวน 10,000 บาทผู้ประกันตนสามารถรับเงินก้อนเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยต้องมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

• กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 500 – 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานานถึง 15 ปีทั้งนี้ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือนขึ้นไป (ต้องเป็นผู้ทุพพลภาพหรือทุพพลภาพเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการ แพทย์)

• กรณีตาย รับเงินค่าทำศพจำนวน 20,000 บาทต่อราย เงื่อนไข จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน ก่อนเสียชีวิต ยกเว้น เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ เงื่อนไข จ่ายเงินสมทบครบ 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเสียชีวิต

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนเอง สามารถชำระเงินได้หลากหลายช่องทาง สำนักงานประกันสังคมได้ยกเลิกค่าธรรมเนียมชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมทั้งมาตรา 39 และมาตรา 40 ผ่านธนาคารและหน่วยบริการ เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกันตน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 61 เป็นต้นมา

โดยสามารถชำระเงินสมทบ ด้วยวิธีหักจากบัญชีเงินฝากจาก 8 ธนาคาร
– ธนาคารกรุงไทย
– ธนาคารกสิกรไทย
– ธนาคารไทยพาณิชย์
– ธนาคารทหารไทย
– ธนาคารออมสิน
– ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
– ธนาคารธนชาต
– ธนาคารกรุงเทพ

ชำระผ่านเคาน์เตอร์ 6 แห่ง
– เคาน์เตอร์เซอร์วิส
– บิ๊กซี
– เทสโก โลตัส
– ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
– ธนาคารกรุงไทย
– ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

นอกจากนี้สำหรับผู้ประกันตนในทางเลือกที่ 1 และ 2 สามารถชำระผ่าน ‘ตู้บุญเติม’ ที่กระจายตัวอยู่ 10,000 ตู้ทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าบริการ

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics