ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมีนาคม 2564

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง
Spread the love

 

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมีนาคม 2564

                      ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

 

              ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมีนาคม เปรียบเทียบเดือนกุมภาพันธ์ และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการข้อคำถาม กุมภาพันธ์ มีนาคม คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 25.40 47.80 26.80 25.20 47.60 27.20 30.40 47.40 22.20
2. รายได้จากการทำงาน 25.70 46.80 27.50 25.50 47.30 27.20 36.50 50.40 13.10
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 36.70 44.40 18.90 36.40 44.20 19.40 38.60 47.50 13.90
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 26.20 47.10 26.70 25.40 46.70 27.90 33.50 46.80 19.70
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 27.90 48.60 23.50 27.20 48.10 24.70 35.20 45.40 19.40
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 27.40 47.80 24.80 27.30 47.60 25.10 30.10 54.60 15.30
7. การออมเงิน 27.50 48.20 24.30 27.10 47.50 25.40 32.90 45.50 21.60
8. ค่าครองชีพ 33.60 47.60 18.80 33.80 47.90 18.30 30.30 35.80 33.90
9. ภาระหนี้สิน 28.90 46.40 24.70 28.60 47.40 24.00 32.40 50.10 17.50
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 26.30 45.80 27.90 25.80 45.60 28.60 33.70 50.40 15.90
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 27.70 48.10 24.20 27.40 48.50 24.10 36.40 43.70 19.90
12. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 22.20 45.60 32.20 21.80 46.80 31.40 35.20 47.90 16.90
13. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 27.70 48.20 24.10 26.80 47.40 25.80 36.70 48.80 14.50
                       

 

 

 

     ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม  กุมภาพันธ์  และมีนาคม 2564

รายการข้อคำถาม มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 41.40 42.70 42.30
2. รายได้จากการทำงาน 38.90 39.50 39.10
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 48.50 49.10 48.90
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 38.80 39.50 38.60
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 48.70 49.30 48.80
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 38.10 39.20 38.70
7. การออมเงิน 41.60 41.80 41.50
8. ค่าครองชีพ 42.20 43.40 43.80
9. ภาระหนี้สิน 46.40 46.80 47.20
 10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 34.30 35.10 35.00
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 48.50 47.90 47.80
12. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 32.40 33.60 33.10
13. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 34.60 36.70 36.40
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 41.30 42.60 42.10

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง

                ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมีนาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนมีนาคม  (42.10) ปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์  (42.60) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม  รายได้จากการทำงาน  รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปัจจัยลบมาจากหลายสาเหตุ ดังนี้

  1. รายได้ภาคเกษตรจากยางพาราลดลง เนื่องจากต้นยางพาราเข้าสู่ฤดูผลัดใบ มีปริมาณน้ำยางพาราน้อยลงและชาวสวนยางบางส่วนก็หยุดกรีดยางพาราในช่วงฤดูแล้งนี้ จึงทำให้รายได้ลดลง ประกอบกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา งวดที่ 5 ซึ่งไม่ได้รับเงินชดเชยส่วนต่างราคายางพารา เนื่องจากราคายางพาราปัจจุบันสูงกว่าราคาประกันรายได้ยางทั้ง 3 ชนิด คือ 1) ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม 2) น้ำยางสด 100% ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และ 3) ยางก้อนถ้วย 50% ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม
  2. รายได้จากธุรกิจภาคการท่องเที่ยวในภาคใต้ลดลง เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคมไม่มีวันหยุดต่อเนื่อง ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวแบบพักแรมค้างคืนมีจำนวนน้อย ประกอบกับรัฐบาลระงับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และไม่มีโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวอื่น ๆ มารองรับเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทย
  3. 3. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความกังวลใจให้กับคนในประเทศไทย ที่จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นมากทุกวัน และกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าประเทศไทยได้เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 จนถึงปัจจุบัน แต่จากกรณีผู้ป่วยเส้นเลือดในท้องโป่งพองแตกระหว่างรับการรักษาได้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ยืนยันแล้วว่าไม่ได้เสียชีวิตจากวัคซีนโควิด-19อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวยังคงกังวลกับผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19 
  4. 4. สถานการณ์การประท้วงในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งผู้ประท้วงได้ปรับกลยุทธ์โดยใช้วิธีการประท้วงแบบสันติวิธีโดยการนัดหยุดงาน ธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ ปิดกิจการชั่วคราว  ในขณะที่รัฐบาลทหารได้มีมาตรการตอบโต้โดยการสั่งปิดอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนไม่สามารถติดต่อสื่อสารและรับข้อมูลต่าง ๆ โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากเมียนมาร์ และการส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศเมียนมาร์เป็นอย่างมาก

                จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

  1. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs  อาทิ การให้วงเงินสินเชื่อซอฟท์โลนที่ครอบคลุมทุกประเภทธุรกิจทั้งรายเก่าและรายใหม่ โดยกำหนดกรอบวงเงินที่เพียงพอต่อการฟื้นฟูธุรกิจ รวมถึงการพิจารณาการให้วงเงินสินเชื่อให้เหมาะสมกับประเภทและขนาดของธุรกิจ เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องปิดกิจการ และช่วยลดปัญหาการว่างงาน
  2. โครงการพักชำระหนี้ โดยไม่เสียดอกเบี้ยหรือคิดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำแก่ธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว ซึ่งโครงการพักชำระหนี้ เพียงแค่ช่วยพักการชำระหนี้ให้แก่ธุรกิจเท่านั้น ในขณะที่จำนวนดอกเบี้ยยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ยาก เพราะไม่สามารถแบกภาระดอกเบี้ยไว้ได้ อันจะนำไปสู่การปิดกิจการไปในที่สุด
  3. ประชาชนเสนอให้ภาครัฐมีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างจริงจัง  เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนจำนวนมากกลับภูมิลำเนา จึงมีการรวมกลุ่มสังสรรค์กันในเครือญาติและเพื่อนฝูงจำนวนมาก โดยมีการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์
  4. ประชาชนส่วนหนึ่งมีความกังวลในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้ว ให้สามารถบินตรงไปยังจังหวัดภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว เพราะจากผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังสามารถแพร่เชื้อและติดเชื้อโควิด-19 ได้ โดยประชาชนต้องการให้ภาครัฐมีข้อกำหนดในการควบคุมนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเข้มงวดในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ  และภาครัฐควรมีแผนสำรองหากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านี้ เพื่อไม่ให้แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินมาต้องสูญเปล่า ซึ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้ถดถอยไปกว่าเดิม
  5. ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่า การเลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศในวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา มีเงินหมุนเวียนสะพัดจำนวนมาก โดยเฉพาะการใช้เงินในการหาเสียงและซื้อเสียง ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกเข้าไปส่วนหนึ่งย่อมหวังกอบโกยผลประโยชน์ และเป็นฐานเสียงให้กับพรรคการเมืองในการเลือกตั้งระดับประเทศ ซึ่งประชาชนต้องการให้มีการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะการขจัดนักการเมืองที่หวังเข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ของชาติ หรือเอื้อประโยชน์จากนโยบายต่าง ๆ เพื่อธุรกิจของตน เครือญาติ และพวกพ้อง ไม่ให้สามารถเข้ามามีอำนาจได้
  6. ประชาชนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการฯ กับรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ที่มาจากพรรคเดียวกัน เพราะหากผู้ที่เข้ารับตำแหน่งดังกล่าวไม่ซื่อสัตย์สุจริต ย่อมสามารถร่วมกันหาผลประโยชน์เข้าพรรคได้อย่างเต็มที่ โดยขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
  7. ประชาชนต้องการให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมือง โดยมีหน่วยงานกลางที่มีอำนาจในการตรวจสอบ และไม่ขึ้นอยู่กับใคร รวมถึงการออกกฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับเพื่อไม่ให้เกิดการฉ้อโกง  กระทำความผิดโดยมิชอบ รวมถึงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและหน่วยงาน เช่น การให้อำนาจตำรวจออกใบสั่งปรับผู้กระทำผิดกฎจราจร โดยนำเงินค่าปรับที่ได้ส่วนหนึ่งเข้าตนเองและหน่วยงาน ดังนั้น  ประชาชนจึงเสนอให้ตำรวจมีอำนาจในการออกใบสั่งได้ แต่ให้ประชาชนชำระค่าปรับกับหน่วยงานกลางที่ไม่ใช่หน่วยงานตำรวจ และเงินค่าปรับทั้งหมดเข้ากองคลัง เพื่อนำไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ บนท้องถนน และเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 30.40 และ 36.50 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 38.60 และ 33.50 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 35.20 , 35.20 และ 36.70 ตามลำดับ

                 ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 25.70 รองลงมา คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  และราคาสินค้าสูง คิดเป็นร้อยละ 22.30 และ 15.30 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  ตามลำดับ

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics