สดร. ชวนชม “ดาวศุกร์เคียงกระจุกดาวลูกไก่” หัวค่ำ 3-4 เมษายนนี้ ใกล้สุดในรอบ 8 ปี

Spread the love

สดร. ชวนชม “ดาวศุกร์เคียงกระจุกดาวลูกไก่” หัวค่ำ 3 – 4 เมษายนนี้ ใกล้สุดในรอบ 8 ปี

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย    และนวัตกรรม ชวนชม “ดาวศุกร์สว่างสุกใสเคียงกระจุกดาวลูกไก่” ปรากฏใกล้กันที่สุดในรอบ 8 ปี  ช่วงวันที่ 3 – 4 เมษายน 2563 สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ภาพจำลองตำแหน่งดาวศุกร์ระหว่างวันที่ 1 – 6 เมษายน 2563 เวลา 20:00 น. จากโปรแกรม Stellarium

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า  ในวันที่  3 – 4 เมษายน 2563 ดาวศุกร์จะปรากฏเคียงกระจุกดาวลูกไก่บนท้องฟ้าทางทิศตะวันตก สังเกตได้ด้วยตาเปล่าช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:30 – 21:00 น. นับเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สวยงามและน่าประทับใจอีกปรากฏการณ์หนึ่ง 

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากระนาบวงโคจรของดาวศุกร์ทำมุมกับระนาบสุริยวิถี 3.4 องศา   ขณะที่กระจุกดาวลูกไก่อยู่ห่างจากเส้นสุริยะวิถีประมาณ 4 องศา ส่งผลให้ทุก ๆ 8 ปี ดาวศุกร์จะปรากฏตรงกับกระจุกดาวลูกไก่พอดี  (ในมุมมองจากโลก ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเคลื่อนที่ตามแนวสุริยะวิถี หรือแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ เปลี่ยนตำแหน่งไปทุกวันและจะเข้าใกล้หรือห่างจากเส้นสุริยะวิถีในระยะเชิงมุมท้องฟ้าไม่เกิน 10 องศา) ซึ่งในวันที่ 3 และ 4 เมษายน ที่จะถึงนี้ ดาวศุกร์จะปรากฏห่างจาก  ดาวอัลไซออนี (Alcyone) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกระจุกดาวลูกไก่เพียง 0.5 องศาเท่านั้น กล่าวคือ หากมองด้วยตาจะเห็นดาวทั้งสองห่างกันประมาณครึ่งนิ้วก้อยเท่านั้น (การวัดระยะเชิงมุมท้องฟ้า ใช้มือเหยียดสุดแขนขึ้นบนฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย)

           ดาวศุกร์เป็นวัตถุที่มีความสว่างปรากฏบนท้องฟ้ามากเป็นอันดับ 3 รองจากดวงอาทิตย์  และดวงจันทร์  ช่วงนี้ดาวศุกร์มีความสว่างมาก เนื่องจากกำลังโคจรเข้าใกล้โลก ผู้ที่สนใจชมปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงกระจุกดาวลูกไก่ จึงหาตำแหน่งดาวศุกร์บนท้องฟ้าได้ไม่ยาก สังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่า กล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก นายศุภฤกษ์กล่าวปิดท้าย

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics