มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมมือภาคีเครือข่าย สร้างบ้านปลาหมายเลข ๙  ตามแนวทางของพ่อ

Spread the love

มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมมือภาคีเครือข่าย สร้างบ้านปลาหมายเลข ๙  ตามแนวทางของพ่อ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม

            เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562 มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ (ท่าเสา) หมู่ที่ 1 ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ชมรมเพาะกล้า มหาวิทยาลัยทักษิณ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กรมประมง องค์กรภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ จัดกิจกรรมสร้างบ้านปลาหมายเลข ๙  ตามแนวทางของพ่อ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเดชอิศม์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 จังหวัดสงขลา  พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยทักษิณ นำโดย  รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ดวงจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการนิสิต สงขลา  รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ  บุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมปล่อยกุ้งทะเล จำนวน หนึ่งล้านเก้าแสนตัว และ จุดเทียนและบรรเลงดนตรีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ร่วมจัดกิจกรรม “แต่งเติมหนุนเสริม สร้างบ้านปลาหมายเลข๙” พร้อม “จุดเทียนและดนตรีระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ” ณ ชุมชน บ้านใหม่ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งการออกแบบ “บ้านปลาหมายเลข ๙” ได้มีการออกแบบจำลองจากแบบลายเส้นด้วยขนาดของพื้นที่ยาว 40  เมตร  โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรงค์   ชีวะสาโร อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรชัย นาคสีทอง  อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ  ได้ร่วมออกแบบแนวความคิดการร่วมมือและร่วมแรงคนของในหมู่บ้าน ช่วยกันวางแผนเพื่อให้ได้ภาพหลากมิติ และสามารถมองเห็นรูปเลข ๙ จากชายฝั่งได้ โดยการจัดกิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 น.ด้วยการเสวนา “ประวัติศาสตร์ชุมชนฯ กับการอนุรักษ์ฯ ตามแนวทางพ่อ” โดย อาจารย์เทพรัตน์ จันทพันธ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ นายธนดล  บิลเหล็บ ผู้นำชุมชน  นายดลรอหมาน บูละ และนายหมัดอุเส็น สนเส็ม ผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ (ท่าเสา) หมู่ที่ 1 พร้อมด้วยนายเกษม  อินหมัน โต๊ะอิหม่าม  ตามด้วยกิจกรรม “แต่งเติมหนุนเสริม “สร้างบ้านปลาหมายเลข ๙” เพื่อเป็นพระราชกุศลฯ

และตามด้วยกิจกรรมภาคค่ำเวลา 19.00 น. การปล่อยพันธ์กุ้งทะเลจำนวน หนึ่งล้านเก้าแสนตัว และกิจกรรมจุดเทียนและบรรเลงดนตรีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยคณะผู้บริหาร บุคลากร นิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณ จำนวน 300 คน ร่วมมือกับเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเล องค์กรภาครัฐและเอกชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน

            ปัจจุบัน “บ้านปลาหมายเลข ๙” หรือแหล่งอาศัยอนุบาลสัตว์น้ำที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในพื้นที่ได้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ประชาชนในพื้นที่จึงต้องการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมนำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการปรับปรุงและแต่งเติมเสริมสร้าง “บ้านปลาหมายเลข ๙” ให้กลับกลายเป็นที่หลบซ่อนอาศัยของสัตว์น้ำอีกครั้ง  แต่ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดของชุมชนทั้งในเรื่องกำลังแรงและทุนทรัพย์จึงไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จตามที่หวังไว้ได้ในเร็ววัน

            ผู้ช่วยศาตราจารย์พรชัย  นาคสีทอง ในฐานะนักวิจัยชุดโครงการประวัติศาสตร์ครอบครัวและระบบเครือญาติ กับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  กิจกรรมในวันนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้  หากไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจกันจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งประชาชน นิสิต นักศึกษา องค์กรภาครัฐ/ภาคเอกชน ภาคการเมืองและสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชุมชนบ้านใหม่ หมู่ 1 ที่ได้พิสูจน์และแสดงให้เห็นในเบื้องต้นถึงความมุ่งมั่น/ตั้งใจจนสามารถรวมกลุ่มกันการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อมหน้าบ้านของตนเองในนาม “กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ หมู่ที่ 1” 

การอนุรักษ์ทรัพยากรฯ ของชุมชนเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขหรือเป็นผลสืบเนื่องมาจากชุมชนฯ ประสบปัญหาทรัพยากรฯ เสื่อมโทรมจนกระทบการวิถีการทำมาหากิน/ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดน้อยลง ประกอบกับในช่วงปี 2557 กรมประมง ได้ส่งเสริมและให้การสนับสนุนให้จัดตั้งเขตพื้นที่อนุรักษ์ฯ ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 384 ไร่ พร้อมกับกำหนดกติกา/ข้อห้ามจับสัตว์น้ำทุกประเภทในระยะ 500 เมตรจากชายฝั่ง  และรณรงค์เพื่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งแบบยังยืนโดยการปลูกฝังให้เยาวชนรู้รักทรัพยากรห้ามการทำประมงที่ผิดวิธี

กิจกรรม/การอนุรักษ์ฯ ของชุมชนเป็นที่รู้จักจากสังคมภายนอกเกิดขึ้นเมื่อประชาชนในพื้นที่ร่วมกับนิสิต นักศึกษากว่า 300 คน ได้ร่วมกันสร้างบ้านปลาหรือที่เรียกกันว่าซุ้มปลาขึ้นในพื้นที่เป็นรูปสัญลักษณ์หมายเลข ๙ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยในการประกอบอาชีพของชาวประมงทั่วประเทศ  เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 และนับแต่นั้นเป็นต้นมา กลุ่มฯ ก็ได้รับการสนับสนุนจากองค์ต่างๆ และมีความเข้มแข็งมากขึ้นตามลำดับ 

สิ่งที่น่าสนใจและถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ชุมชนบ้านใหม่และ “กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ หมู่ที่ 1” บรรลุเป้าหมายของการอนุรักษ์/ฟื้นฟูทรัพยากรฯ และเข้มแข็งดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ซึ่งนอกเหนือจากการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ แล้ว คือ พื้นฐานของความเป็นครอบครัวและระบบเครือญาติที่วางอยู่บนพื้นฐานของสายใยที่เชื่อมร้อยด้วยหลักความสัมพันธ์ทางเครือญาติของศาสนา อยู่กันอย่างเป็นพี่เป็นน้อง และชุมชนเองผ่านกระบวนการการเรียนรู้ นำประสบการณ์มาพูดคุยแลกเปลี่ยน รับฟังความเห็นต่าง และถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น พร้อมทั้งปลูกฝังให้แก่เยาวชนและคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติในฐานะทรัพย์สมบัติของส่วนรวมที่ทุกคนต้องพึ่งรวมกันรักษาดูแล ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของใครเพียงคนใดคนหนึ่งหรือองค์ใดองค์กรหนึ่ง…

                   กิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ชุมชนบ้านใหม่ หมู่ที่ ๑ ต.สทิ้งหม้อ อ.สิงหนคร  จ.สงขลา ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และปรากฏเป็นรูปธรรม เป็นต้นว่า การจัดตั้งแนวเขตอนุรักษ์ในพื้นที่  การปลูกป่าโกงกางและการเพาะขยายพันธุ์ปล่อยสัตว์น้ำในพื้นที่ รวมถึงการร่วมแรงร่วมใจ “วางซั้ง” หรือซุ้มสำหรับให้เป็นที่อยู่อาศัย และเป็นแหล่งอนุบาลให้กับสัตว์น้ำนานาชนิด หรือที่เรียกกันว่า “การสร้างบ้านปลา”  โดยชุมชนเลือกใช้ “หมายเลข ๙” เป็นสัญลักษณ์สำหรับให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลา  ด้วยเหตุผลว่า “หมายเลข ๙” เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และที่สำคัญประชาชนในพื้นที่เชื่อว่าการสร้างบ้านปลาโดยเลือกใช้ “หมายเลข ๙” นั้นจะเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำให้มากขึ้นและสามารถสร้างจิตสำนึกของคนในพื้นที่อันจะนำไปสู่การทำประมงแบบพอเพียงไม่เป็นการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติ หรือการทำประมงแบบผิดกฎหมาย และที่สำคัญ คือการสร้างอาชีพและแหล่งรายได้ให้กับลูกหลานได้อย่างยั้งยืนดังพระราชบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่ว่า “…การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย…”

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics