นศ.เทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา  โชว์ผลงานเวทีประชุมเครือข่ายราชภัฏใต้ คว้า 3 รางวัลงานวิจัยพัฒนาท้องถิ่น

Spread the love

นศ.เทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา โชว์ผลงานเวทีประชุมเครือข่ายราชภัฏใต้  คว้า 3 รางวัลงานวิจัยพัฒนาท้องถิ่น

            นักศึกษาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา นำเสนอผลงานวิจัยแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น คว้า 3 รางวัลเวทีประชุมวิชาการเครือข่ายคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้ ครั้งที่ 1  

                ผศ.ดร.วีระชัย  แสงฉาย คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ นักศึกษาของทางคณะฯ ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมวิชาการเครือข่ายคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้ ครั้งที่ 1 “วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบาย” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ผลปรากฏว่างานวิจัยเรื่อง ตัวแบบการพยากรณ์ปริมาณการส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปเหมาะสม กรณีศึกษา โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา XYZ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดทำโดย นายธนยศ แสงทอง ที่มี ผศ.ธนะรัตน์ รัตนกูล เป็นที่ปรึกษา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 บทความวิจัยดีเด่น แบบรรยาย รับเงินรางวัล 1,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ

นอกจากนั้น นักศึกษาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ยังได้รับรางวัลชมเชย จากงานวิจัยเรื่อง การประยุกต์ใช้กระบวนการวิเคราะห์เชิงลำดับชั้นในการคัดเลือกวัตถุดิบเพื่อผลิตผ้าทอเกาะยอ กรณีศึกษา กลุ่มแม่บ้านผ้าทอเกาะยอ จังหวัดสงขลา จัดทำโดย น.ส.ศศิมา อาแซ โดยมี ผศ.กันต์ธมน สุขกระจ่าง เป็นที่ปรึกษา และอีกหนึ่งรางวัลชมเชยจากงานวิจัยเรื่อง การจัดการขยะมูลฝอย กรณีศึกษา ตำบลโคกม่วง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา จัดทำโดยนายเจษฎา หีมล๊ะ และ นายอนันดา สกุลา โดยมี ผศ.คุลยา เป็นที่ปรึกษา    

สำหรับงานวิจัยเรื่อง ตัวแบบการพยากรณ์ปริมาณการส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปเหมาะสมฯ ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ผู้วิจัยจัดทำขึ้นเนื่องจากเล็งเห็นว่า จากสถิติพื้นที่ปลูกยางพาราของประเทศไทยในปี 2560 จ.สุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 3 ล้านไร่ ซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และมีไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ โดยมีโรงงานแปรรูปไม้ยางพารามากถึง 76 แห่ง ซึ่งในกระบวนการผลิตสินค้าจากไม้ยางพารา ขั้นตอนแรกที่สำคัญคือ การเลื่อยแปรรูปไม้ยางพาราจากไม้ท่อนเป็นไม้แปรรูปขนาดเท่าที่ต้องการจะนำไปใช้งาน แต่ลักษณะพิเศษของไม้ยางพาราที่ต้องรีบแปรรูปและอาบน้ำยา เนื่องจากอาจถูกมอดและเชื้อราเข้าทำลายอย่างรวดเร็วหลังการตัดฟัน ทำให้กระบวนการในการผลิตมีผลต่ออุตสาหกรรมเครื่องเรือนเครื่องใช้ ดังนั้น การพัฒนากระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราให้มีประสิทธิภาพ จะทำให้ผลผลิตไม้แปรรูปจากไม้ยางพารามีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลถึงอุตสาหกรรมที่ใช้ไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการจีนนิยมใช้ไม้ยางพาราจากไทยในการผลิตสินค้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าเฟอร์นิเจอร์ซึ่งมีแนวโน้มการนำเข้าไม้ยางพาราจากประเทศไทยเติบโตต่อเนื่อง ด้านสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศซึ่งมีจำนวนสมาชิกกว่า 100 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนบริษัทผู้นำเข้าไม้ยางพาราทั้งหมดในประเทศจีน พบว่าบริษัทผู้นำเข้าไม้เหล่านี้มีการใช้ไม้ยางพาราประมาณ 2 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน จากความต้องการดังกล่าวผู้วิจัยจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพยากรณ์ยอดการผลิตไม้ยางพาราแปรรูป เพื่อวางแผนส่งมอบไม้ยางพาราแปรรูปให้เพียงพอต่อความต้องการในตลาดต่างประเทศ

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics