ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน 2567
ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง
ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน 2567 เปรียบเทียบเดือนสิงหาคม 2567 และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า
รายการ | สิงหาคม 2567 | กันยายน 2567 | คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า | ||||||
เพิ่มขึ้น/ | คงที่/ | ลดลง/ | เพิ่มขึ้น/ | คงที่/ | ลดลง/ | เพิ่มขึ้น/ | คงที่/ | ลดลง/ | |
ดีขึ้น | เท่าเดิม | แย่ลง | ดีขึ้น | เท่าเดิม | แย่ลง | ดีขึ้น | เท่าเดิม | แย่ลง | |
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม | 28.60 | 44.10 | 27.30 | 28.50 | 44.00 | 27.50 | 35.80 | 52.10 | 12.10 |
2. รายได้จากการทำงาน | 27.00 | 44.40 | 28.60 | 26.70 | 44.20 | 29.10 | 30.60 | 52.40 | 17.00 |
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว | 32.20 | 46.30 | 21.50 | 32.40 | 46.50 | 21.10 | 32.20 | 47.50 | 20.30 |
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ | 29.00 | 44.70 | 26.30 | 28.90 | 44.50 | 26.60 | 34.50 | 51.30 | 14.20 |
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต | 27.40 | 45.20 | 27.40 | 27.30 | 45.30 | 27.40 | 31.30 | 45.70 | 23.00 |
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) | 28.10 | 45.20 | 26.70 | 28.00 | 44.60 | 27.40 | 30.40 | 47.60 | 22.00 |
7. การออมเงิน | 26.20 | 45.80 | 28.00 | 26.00 | 44.50 | 29.50 | 36.80 | 49.20 | 14.00 |
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ | 27.20 | 44.50 | 28.30 | 26.80 | 44.30 | 28.90 | 34.20 | 57.20 | 8.60 |
9. การลดลงของหนี้สิน | 26.30 | 45.20 | 28.50 | 26.10 | 45.20 | 28.70 | 36.10 | 52.00 | 11.90 |
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน | 26.20 | 45.80 | 28.00 | 26.20 | 45.80 | 28.00 | 30.40 | 48.90 | 20.70 |
11. การแก้ปัญหายาเสพติด | 24.30 | 45.40 | 30.30 | 24.10 | 45.10 | 30.80 | 30.30 | 48.60 | 21.10 |
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ | 26.10 | 45.00 | 28.90 | 26.20 | 44.20 | 29.60 | 34.60 | 45.20 | 20.20 |
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ | 27.30 | 45.50 | 27.20 | 27.10 | 44.10 | 28.80 | 36.10 | 52.00 | 11.90 |
ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน 2567
รายการ | 2567 | ||
กรกฎาคม | สิงหาคม | กันยายน | |
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม | 48.60 | 48.20 | 47.80 |
2. รายได้จากการทำงาน | 43.50 | 43.30 | 43.10 |
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว | 60.60 | 60.60 | 60.80 |
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ | 48.70 | 48.10 | 47.40 |
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต | 50.00 | 49.40 | 49.30 |
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) | 43.10 | 42.80 | 42.50 |
7. การออมเงิน | 41.00 | 40.70 | 40.60 |
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ | 38.80 | 38.60 | 38.60 |
9. การลดลงของหนี้สิน | 46.10 | 45.90 | 45.70 |
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน | 43.90 | 43.70 | 43.70 |
11. การแก้ปัญหายาเสพติด | 38.70 | 38.30 | 38.20 |
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ | 34.80 | 34.60 | 34.50 |
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ | 40.50 | 40.40 | 40.30 |
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม | 44.40 | 44.20 | 44.00 |
ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือน กันยายน (44.00) ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม (44.20) และเดือนกรกฎาคม (44.40) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ การลดลงของหนี้สิน การแก้ปัญหายาเสพติด การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยลบที่สำคัญเกิดจากผลพวงของสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19 และยังไม่ฟื้นตัวมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเพราะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลขาดความชัดเจนในเชิงรูปธรรม ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประชาชนเพิ่งได้เห็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการโอนเงินให้กับกลุ่มเปราะบางกว่า 14 ล้านคน โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณ ปี 2567 อีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในส่วนเฟสที่สอง สำหรับผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ยังไม่มีความชัดเจน และประชาชนยังคงต้องรออีกต่อไป
ถึงแม้ว่าการแจกเงิน 10,000 บาท อาจจะไม่ทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นการแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนเหล่านี้จะนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของตนเองและครอบครัว ซึ่งประชาชนมองว่า การแจกเงินในสภาพเศรษฐกิจที่ประชาชนมีหนี้ครัวเรือนและขาดสภาพคล่องทางการเงินเช่นนี้ เป็นการต่อลมหายใจให้กับประชาชนที่มีความเดือดร้อนให้ สามารถลุกขึ้นมาสู้ชีวิตได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามการแจกเงินในช่วงปลายเดือนกันยายน ทำให้การค้าขายในตลาด ร้านค้าขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอยดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่อาจจะดีขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังจากประชาชนได้รับเงินเท่านั้น เนื่องจากประชาชนกลุ่มเปราะบางมีความจำเป็นต้องใช้เงินมาก และอาจจะใช้เงินจนหมดในเวลาอันสั้น จากนั้นไม่นานก็อาจจะกลับมาเดือดร้อนเช่นเดิม ดังนั้น ภาครัฐควรมีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้การใช้จ่ายมีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจูงใจให้ประชาชนนำเงินตนเองมาใช้จ่าย ซึ่งเป็นกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน อีกทั้ง ควรกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทย โดยการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันกับคนละครึ่ง หรือเราเที่ยวด้วยกัน
จากการแถลง 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลแพทองธาร นั้น ประชาชนต้องการให้รัฐบาลกำหนดไทม์ไลน์ที่ชัดเจน ว่าจะดำเนินโครงการใด ๆ เพื่อตอบโจทย์นโยบายใดบ้าง โดยจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่ และคาดว่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้เมื่อใด เนื่องจากประชาชนต้องการเห็นความชัดเจนในเชิงรูปธรรมจากรัฐบาลแพทองธาร เนื่องจากโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ผ่านมีการปรับเปลี่ยนและขยายเวลามาตลอด ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถทำได้ตามที่ได้แถลงไว้หรือไม่ ดังนั้น รัฐบาลควรมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อให้ 10 นโยบายเร่งด่วน เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามถ้อยคำที่แถลงต่อรัฐสภา เพื่อให้ปัญหาของประเทศเกิดการแก้ไขอย่างจริงจัง อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ การส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน การสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีเข้าสู่ระบบภาษี การกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ การยกระดับเกษตรทันสมัย การส่งเสริมการท่องเที่ยว การแก้ปัญหายาเสพติด การแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ และการสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ
จากการสัมภาษณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในสิ่งที่ประชาชนคาดหวังและต้องการในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีดังนี้
- ราคาสินค้าและบริการในประเทศที่สูงขึ้น ล้วนมาจากราคาของพลังงานที่สูงขึ้น ดังนั้น ประชาชนจึงเสนอให้ภาครัฐควรเร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน
- จากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้การจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวในประเทศของประชาชนลดลงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ภาครัฐควรเพิ่มมาตรการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยกระตุ้นและจูงใจให้เกิดการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวในประเทศ เช่น เราเที่ยวด้วยกันคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน เป็นต้น
- ในช่วงปลายเดือนกันยายนจนถึงปัจจุบัน มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งถือโอกาสขึ้นราคาสินค้าและบริการ เนื่องจากเป็นช่วงที่ประชาชนกลุ่มเปราะบางได้รับเงิน 10,00 บาท ทั้งนี้ ประชาชนจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบการขึ้นราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการในช่วงนี้
- 4. ปัจจุบันกล้องจับความเร็วมีจำนวนมาก อีกทั้งมีการตั้งด่านเพื่อออกใบสั่งค่าปรับจราจร ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องจ่ายค่าปรับ อีกทั้งต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มขึ้น จากการปรับเปลี่ยนอัตราค่าปรับจราจรใหม่ โดยประชาชนมองว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการหาผลประโยชน์เพื่อตนเองของหน่วยงานภาครัฐ มากกว่าความห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ประชาชนจึงเสนอให้ “เงินค่าปรับจราจรทั้งหมดเข้าเป็นเงินรายได้แผ่นดิน” โดยให้ยกเลิกส่วนแบ่งค่าปรับทั้งหมด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างยุติธรรม โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของหน่วยงานภาครัฐดีขึ้นในสายตาของประชาชน
- ประชาชนต้องการเห็นผู้ที่เข้ามาเป็นนักการเมืองและรัฐมนตรีเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรมสูงกว่าบุคคลทั่วไป จึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับแก้กฎหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง และรัฐมนตรีให้สูงขึ้น เพราะนักการเมืองและรัฐมนตรีควรมีคุณธรรม จริยธรรม และซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์
- ปัจจุบันปัญหายาเสพติดมีจำนวนมาก และแพร่ระบาดไปในทั่วทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ในวัดวาอาราม สถานศึกษา ทั้งนี้ ประชาชนจึงเสนอให้ภาครัฐควรออกมาตรการในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความปลอดภัยและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนในทุกพื้นที่ เช่น การเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด และการนำผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดอย่างทันท่วงที เป็นต้น
ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 35.80 และ 30.60 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 32.20 และ 34.50 ตามลำดับ ในขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 31.30, 34.60 และ 36.10 ตามลำดับ