ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนสิงหาคม 2567
ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง
ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนสิงหาคม 2567 เปรียบเทียบเดือนกรกฎาคม 2567 และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า
รายการ | กรกฎาคม 2567 | สิงหาคม 2567 | คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า | ||||||
เพิ่มขึ้น/ | คงที่/ | ลดลง/ | เพิ่มขึ้น/ | คงที่/ | ลดลง/ | เพิ่มขึ้น/ | คงที่/ | ลดลง/ | |
ดีขึ้น | เท่าเดิม | แย่ลง | ดีขึ้น | เท่าเดิม | แย่ลง | ดีขึ้น | เท่าเดิม | แย่ลง | |
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม | 29.00 | 44.20 | 26.80 | 28.60 | 44.10 | 27.30 | 34.60 | 45.20 | 20.20 |
2. รายได้จากการทำงาน | 27.10 | 44.80 | 28.10 | 27.00 | 44.40 | 28.60 | 34.30 | 45.60 | 20.10 |
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว | 32.20 | 46.30 | 21.50 | 32.20 | 46.30 | 21.50 | 35.80 | 52.10 | 12.10 |
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ | 29.20 | 45.00 | 25.80 | 29.00 | 44.70 | 26.30 | 30.60 | 52.40 | 17.00 |
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต | 27.30 | 46.00 | 26.70 | 27.40 | 45.20 | 27.40 | 32.20 | 47.50 | 20.30 |
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) | 28.20 | 45.60 | 26.20 | 28.10 | 45.20 | 26.70 | 34.50 | 51.30 | 14.20 |
7. การออมเงิน | 26.50 | 46.10 | 27.40 | 26.20 | 45.8 | 28.00 | 30.80 | 46.40 | 22.80 |
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ | 27.10 | 45.10 | 27.80 | 27.20 | 44.50 | 28.30 | 30.40 | 48.90 | 20.70 |
9. การลดลงของหนี้สิน | 26.50 | 45.60 | 27.90 | 26.30 | 45.20 | 28.50 | 30.30 | 48.60 | 21.10 |
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน | 26.40 | 46.20 | 27.40 | 26.20 | 45.80 | 28.00 | 34.30 | 45.60 | 20.10 |
11. การแก้ปัญหายาเสพติด | 24.60 | 45.50 | 29.90 | 24.30 | 45.40 | 30.30 | 35.60 | 45.80 | 18.60 |
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ | 26.30 | 45.30 | 28.40 | 26.10 | 45.00 | 28.90 | 30.50 | 43.80 | 25.70 |
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ | 27.50 | 45.50 | 27.00 | 27.30 | 45.50 | 27.20 | 36.10 | 52.00 | 11.90 |
ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม 2567
รายการ | 2567 | ||
มิถุนายน | กรกฎาคม | สิงหาคม | |
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม | 49.10 | 48.60 | 48.20 |
2. รายได้จากการทำงาน | 43.80 | 43.50 | 43.30 |
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว | 60.80 | 60.60 | 60.60 |
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ | 49.20 | 48.70 | 48.10 |
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต | 50.10 | 50.00 | 49.40 |
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) | 43.20 | 43.10 | 42.80 |
7. การออมเงิน | 41.10 | 41.00 | 40.70 |
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ | 38.90 | 38.80 | 38.60 |
9. การลดลงของหนี้สิน | 46.60 | 46.10 | 45.90 |
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน | 43.80 | 43.90 | 43.70 |
11. การแก้ปัญหายาเสพติด | 38.40 | 38.70 | 38.30 |
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ | 35.00 | 34.80 | 34.60 |
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ | 40.70 | 40.50 | 40.40 |
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม | 44.60 | 44.40 | 44.20 |
ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนสิงหาคม (44.20) ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม (44.40) และเดือนมิถุนายน (44.60) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ การลดลงของหนี้สิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยลบที่สำคัญเกิดจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้จ่ายของประชาชนลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับรายได้ที่เติบโตช้ากว่ารายจ่ายและค่าครองชีพ ทั้งนี้ รัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่ายของประชาชน
การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในการนำของคุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 นั้น ประชาชนรอการแถลงนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลว่าจะสามารถช่วยสนับสนุนการบริโภค และกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งประชาชนทั่วไป นักธุรกิจ และผู้ประกอบการต่างต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ประชาชนขอให้รีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะโครงการแจกเงิน 10,000 บาท เพราะช่วงไตรมาสที่ 4 ในช่วงปลายปีเป็นช่วงไฮซีซั่น ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย หากประชาชนได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเร็ว ก็จะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้เร็ว ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการต่อลมหายใจให้แก่ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้
จากการสัมภาษณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในสิ่งที่ประชาชนต้องการได้รับจากรัฐบาลชุดใหม่ ดังนี้
- ประชาชนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เปลี่ยนการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเงินสด เนื่องจากประชาชนจะได้นำเงินไปใช้ในสิ่งที่จำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ และขอให้รัฐบาลชุดใหม่รีบดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2567
- ร้านค้าในชุมชน ร้านค้าขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย ต้องการรับเงินสดจากการขายสินค้า เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็น และใช้จ่ายในครอบครัว รวมถึงการนำไปใช้หนี้
- ประชาชนที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในประเทศต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่กระตุ้นและจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทย ในลักษณะเดียวกันกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
- ประชาชนที่เป็นผู้สูงวัยที่ไม่ใช่ข้าราชการบำนาญ เมื่อถูกให้ออกจากงาน ต้องขาดรายได้ จึงต้องการให้ภาครัฐเพิ่มเงินผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้จ่าย
- ปัจจุบันค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สูงขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนต้องใช้เงินจากรายได้ทั้งหมดไปกับค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรและบิดามารดา ดังนั้น ประชาชนจึงต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษี ในส่วนของการลดหย่อนส่วนตัว การลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบุตร และการเลี้ยงดูบิดามารดา โดยควรปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง
จากการสัมภาษณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ ดังนี้
- ประชาชนเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกกฎหมายให้ธนาคาร และบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ใช้ระบบ AI ในการคัดกรองบัญชีธนาคาร และหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นของแก็งคอลเซ็นเตอร์และมิจฉาชีพ เพื่อระงับการให้บริการ และออกมาตรการทางกฎหมายให้ธนาคาร และบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ปล่อยปละละเลยร่วมรับผิดชอบในการชดใช้จ่ายเงินให้แก่ผู้ที่สูญเสียเงินจากแก็งคอลเซ็นเตอร์ และมิจฉาชีพ
- ประชาชนเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกกฎหมาย ห้ามพรรคการเมืองหาเสียงด้วยการแจกเงิน เพราะการแจกเงินเป็นการแก้ปัญหาได้แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่จะทำให้ประเทศเสียงบประมาณจำนวนมาก
- ประชาชนเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกกฎหมายเพื่อคัดสรรคณะรัฐมนตรีด้วยการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี โดยกำหนดคุณสมบัติให้ผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงใด ๆ ก็ตาม จะต้องมีคุณวุฒิทางการศึกษา หรือมีประสบการณ์ที่สอดคล้องและเกี่ยวข้องกับกระทรวงนั้น เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
- ประชาชนเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยควรกำหนดให้พรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล และรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใด จะต้องแสดงวิสัยทัศน์ว่าจะผลักดันนโยบายใดบ้าง และแต่ละนโยบายจะทำแล้วเสร็จเมื่อไร โดยให้พรรคการเมืองและรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อนโยบายดังกล่าว หากทำไม่ได้หรือทำไม่สำเร็จในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ควรกำหนดบทลงโทษอย่างชัดเจน
- ประชาชนเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกกฎหมายบังคับใช้กับผู้ยื่นคำร้องทางการเมือง โดยผู้ที่จะยื่นคำร้องในเรื่องใดก็ตามจะต้องมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างน้อย 1,000 คนขึ้นไป หากไม่มีเสียงสนับสนุนจากประชาชน ก็ควรกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ยื่นคำร้อง กรณีที่คำพิพากษาไม่เป็นไปตามที่ผู้ยื่นคำร้องกล่าวหา
จากการสัมภาษณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความกังวลของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์ประเทศ ดังนี้
- ประชาชนเบื่อสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ซึ่งเป็นลักษณะของการเมืองแบบเก่า โดยเห็นนักการเมืองต่างแย่งชิงผลประโยชน์ ทั้งในพรรคการเมืองเดียวกันและต่างพรรคการเมือง ซึ่งนักการเมืองเหล่านี้หวังแต่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่ได้คำนึงถึงประเทศชาติและประชาชน ทั้งนี้ ประชาชนกังวลว่า หากนักการเมืองไทยยังเป็นเช่นนี้ ประเทศชาติก็จะไม่เกิดการพัฒนา รวมถึงปัญหาของประเทศและปัญหาของประชาชนก็จะไม่ได้รับแก้ไข ประชาชนจึงเสนอแนะให้แก้ไขกฎหมาย เช่น การให้ประชาชนเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง
- การแสดงวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจของคุณทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ประชาชนเห็นด้วยหลายประเด็น หากมีการนำไปปฏิบัติจริง ทั้งนี้ ประชาชนมีความกังวลและไม่มั่นใจว่ารัฐบาลแพทองธารจะสามารถทำได้
- ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ในหลายประเด็น อย่างไรก็ตาม หากจะดำเนินโครงการฯ ประชาชนไม่เห็นด้วยที่จะตั้งอยู่ในเขตเมือง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาจราจร และปัญหาสังคมอีกมากมาย จึงควรกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งสถานบันเทิงครบวงจรให้อยู่ห่างไกลจากเขตเมืองอย่างน้อย 10 กิโลเมตร เพื่อช่วยกระจายความเจริญไปสู่นอกเมืองด้วย
- ประชาชนมีความกังวลและไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี เพราะหากมีต่างชาติมาเช่าที่ดินในประเทศไทยจำนวนมาก ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ก็จะสูงขึ้น ทำให้คนไทยจำนวนมากไม่สามารถซื้อได้ แต่ต้องไปเช่าที่ของชาวต่างชาติ ก็เสมือนกับประเทศไทยเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ 99 ปี
- ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุน เพราะจากภาพที่ปรากฏในการแสดงวิสัยทัศน์ของคุณทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 พบว่า มีกลุ่มทุนจำนวนมากได้เข้าหาคุณทักษิณ ชินวัตร จำนวนมาก ประชาชนจึงกังวลว่า การดำเนินการโครงการของรัฐบาลแพทองธาร อาจจะมีการเอื้อประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนกับกลุ่มพรรคการเมือง
ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 34.60 และ 34.30 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 35.80 และ 30.60 ตามลำดับ ในขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.20, 30.50 และ 36.10 ตามลำดับ