ทีม Galact3x โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ คว้ารางวัลชนะเลิศ เป็นสุดยอดเยาวชนคนอวกาศ ประจำปี 2567
20 สิงหาคม 2567 – นนทบุรี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยสุดยอดเยาวชนคนอวกาศ ประจำปี 2567 “ทีม Galact3x” จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นครปฐม คว้ารางวัลชนะเลิศ จากเวทีแข่งขันออกแบบโครงการสำรวจอวกาศระดับเยาวชน (Space Youth Challenge 2024) จัดแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ณ เวทีกลาง งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2567 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ดร. วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ประธานกรรมการตัดสินกล่าวว่า การแข่งขันออกแบบโครงการสำรวจอวกาศระดับเยาวชน “Space Youth Challenge” จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2567 เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้หลักทางฟิสิกส์ และออกแบบการสำรวจอวกาศเสมือนจริง ท้าทายความสามารถ และสร้างประสบการณ์แก่นักเรียนที่จะสร้างสรรค์กระบวนการคิด และจินตนาการเสมือนเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติการจริง ๆ รวมถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะอยู่ติดตัวนักเรียนไปตลอด และไม่ว่าจะเป็นโครงการอวกาศใหญ่แค่ไหนก็ไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้
หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ ในปีนี้มีเหล่าเกมเมอร์สนใจเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในวงกว้าง โครงการดังกล่าวถือเป็นตัวช่วยผลักดันไปสู่การสร้างกำลังคนด้านการวิจัยอวกาศสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นกับเด็กรุ่นใหม่ เยาวชนของชาติอย่างสร้างสรรค์ต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศ ภายใต้โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย เป้าหมายแรก คือสร้างดาวเทียมฝีมือคนไทยไปโคจรรอบดวงจันทร์ แม้ดวงจันทร์จะเป็นเป้าหมายของภารกิจนี้ แต่สิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด คือการพัฒนากำลังคน พัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอวกาศเพื่อให้ไทยเทียบเท่าระดับสากล นอกจากภาคีความร่วมมืออวกาศไทยหรือ Thai Space Consortium ที่กำลังพัฒนาดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ฝีมือคนไทย ขณะนี้วิศวกรของ NARIT กำลังพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ ชื่อว่า “MATCH” หรือ Moon Aiming Thai-Chinese Hodoscope ที่จะติดตั้งไปกับยานฉางเอ๋อ 7 ของประเทศจีน และมีกำหนดเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ในปี 2026 รวมถึงกำลังจะมีห้องประกอบดาวเทียมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรเป็นห้องปฏิบัติพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และศึกษาวิจัยด้านอวกาศ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคนด้านอวกาศของไทย ให้เทียบเท่าระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนที่กำลังเติบโตและจะมารับไม้ต่อในทุก ๆ ภารกิจต่าง ๆ ในประเทศ เราจึงจะทำให้ห้องปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงของ NARITเป็นห้องเรียนแห่งใหม่ ที่จะเปิดให้เยาวชนได้มาเรียนรู้ ทดลอง ทดสอบ และเปิดรับนักศึกษาฝึกงานเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนางานวิจัยด้านอวกาศของจริง
ดร. วิภู กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้เรายังได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากบริษัท Private Division บริษัท ผู้จัดจำหน่ายเกม Kerbal Space Program เกมแนว space simulator ที่นำมาใช้ในการแข่งขัในครั้งนี้อีกเช่นเคย รวมถึงการสนับสนุนจากบริษัท ชิชาง คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดมอบเครื่องเล่นเกม PlayStation 5 และสื่อออนไลน์ SPACETH.CO มอบเงินรางวัลในการแข่งขันครั้งนี้
สำหรับการแข่งขันยอดเยาวชนคนอวกาศ ประจำปี 2567 (Space Youth Challenge 2024)มีเยาวชนส่งผลงานการออกแบบโครงการสำรวจอวกาศเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 50 ทีมจากทั่วประเทศ คณะกรรมการได้คัดเลือก จำนวน 10 ทีม เพื่อผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขันทั้งหมดเป็นดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Galact3x โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับทุนการศึกษา 25,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และเครื่องเล่นเกม PlayStation 5 สนับสนุนโดย บริษัท ชิชาง คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย)จำกัด จำนวน 1 ชุด
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม su su su supernova โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ได้รับทุนการศึกษา 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์รับทุนการศึกษา 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมได้เวลาฮีโร โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยาพุทธมณฑล กรุงเทพมหานคร ได้รับทุนการศึกษา 15,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลการนำเสนอโดดเด่น รับทุนการศึกษา 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรรางวัลชมเชย จำนวน 7 ทีม ได้รับทุนการศึกษาทีมละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่
– ทีม Prospero โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ. นครปฐม และรับรางวัลสนับสนุนจาก SPACETH.CO
– ทีม Lynx Star โรงเรียนบึงโขงหลงวิทยาคม จ. บึงกาฬ
– ทีม Laythe Conquerer โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กรุงเทพมหานคร
– ทีม SA ROBOT 1 โรงเรียนสา จ. น่าน
– ทีม CUD Magnetic โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กรุงเทพมหานคร
– ทีม CaptainSpacetech โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี
– ทีมเจาะแจะดาราศาสตร์ โรงเรียนบุญวัฒนา จ. นครราชสีมา