สคร.12 สงขลา แนะสังเกตอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร
ให้สงสัยโรคไข้เลือดออก อย่าซื้อยากินเอง ให้รีบพบแพทย์
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โรคนี้ระบาด ได้ทั้งปี หากพบมีอาการไข้สูงลอย 2-7 วัน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อย่าซื้อยามารับประทานเอง และหลังจากไข้ลด อาการแย่ลง อ่อนเพลีย ซึม ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว พร้อมแนะ ประชาชน ให้ปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ป้องกันโรคไข้เลือดออก และโรคติดต่อที่นำโดยยุงลาย
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึง สถานการณ์โรคไข้เลือดออก วันที่ 1 มกราคม-14 สิงหาคม 2567 (ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวัง Digital 506 กรมควบคุมโรค) ประเทศไทยพบผู้ป่วย 63,350 ราย เสียชีวิต 47 ราย สำหรับเขตสุขภาพที่ 12 พบผู้ป่วย 7,124 ราย เสียชีวิต 5 ราย (จังหวัดสงขลา 2 ราย, ยะลา 1 ราย, ปัตตานี 1 ราย และพัทลุง 1 ราย) จังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดคือจังหวัดสงขลา 2,623 ราย รองลงมาคือ ปัตตานี 1,090 ราย, พัทลุง 1,030 ราย, ยะลา 816 ราย, นราธิวาส 792 ราย, ตรัง 639 ราย และสตูล 134 ราย
สคร.12 สงขลา เน้นย้ำ ประชาชนสังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไข้สูงลอย 2 – 7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หน้าแดง ตาแดง และหลังจากไข้ลด มีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีเลือดออกตามไรฟัน มีผื่นจ้ำเลือดใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขน ขา ข้อพับ หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และเน้นย้ำ ไม่ซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวดกลุ่มไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก เป็นต้น อาจทำให้มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงและเลือดออกมากขึ้น ส่งผลให้เสียชีวิตได้ สำหรับร้านขายยาและคลินิก หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่าย ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ไม่ควรจ่ายยาแก้ปวดกลุ่มไม่ใช่สเตียรอยด์ และแนะให้ผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา กล่าวเพิ่มเติม แนะนำประชาชน 2 อย่า “อย่าให้ยุงกัด อย่าให้ยุงเกิด” อย่าให้ยุงกัดด้วยการนอนกางมุ้งหรืออยู่ในห้องติดมุ้งลวด ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ทาโลชั่นกันยุง ใช้ยาจุดกันยุง และอย่าให้ยุงเกิดด้วยมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 1) เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก จัดเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้ให้เป็นระเบียบ 2) เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น เศษภาชนะ เศษวัสดุที่ทิ้งไว้รอบๆ บ้าน เช่น กะลา กระป๋อง ถุงพลาสติก ควรเก็บทิ้งหรือฝังดินไม่ให้มีน้ำขัง ยางรถยนต์เก่า สามารถดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์หรือขายให้สถานประกอบการ และ 3) เก็บน้ำ ภาชนะบรรจุน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ปิดฝาให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ สามารถป้องกันได้ทั้ง โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก หรือโรคติดต่ออื่นๆ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422