ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกุมภาพันธ์ 2566         

Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกุมภาพันธ์ 2566           

                      ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

                    ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เปรียบเทียบเดือนมกราคม 2566 และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการข้อคำถาม มกราคม 2566 กุมภาพันธ์ 2566 คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 28.30 47.40 24.30 28.70 47.60 23.70 36.10 52.00 11.90
2. รายได้จากการทำงาน 27.40 45.20 27.40 28.20 45.10 26.70 35.80 52.10 12.10
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 28.70 46.40 24.90 28.90 46.30 24.80 37.40 45.20 17.40
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 27.20 45.80 27.00 27.00 45.20 27.80 34.10 55.80 10.10
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 27.30 48.40 24.30 27.40 47.40 25.20 36.20 52.10 11.70
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 26.90 47.20 25.90 26.40 48.30 25.30 30.30 48.60 21.10
7. การออมเงิน 26.10 48.90 25.00 26.20 48.80 25.00 35.40 48.30 16.30
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 28.70 47.80 23.50 28.50 48.40 23.10 37.10 48.50 14.40
9. การลดลงของหนี้สิน 28.50 48.60 23.90 28.70 48.90 22.40 31.40 46.50 22.10
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 26.80 46.90 26.30 26.70 47.40 25.90 30.90 48.50 20.60
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 27.10 43.20 29.70 26.60 43.10 30.30 31.80 46.70 21.50
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 27.20 42.50 30.30 27.10 42.60 30.30 32.90 45.50 21.60
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 29.70 45.60 24.70 29.90 45.30 24.80 31.30 48.40 20.30
                       

 

   ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนธันวาคม 2565  มกราคม และกุมภาพันธ์ 2566

รายการข้อคำถาม 2565 2566
ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 47.80 48.10 48.70
2. รายได้จากการทำงาน 43.20 43.70 43.80
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 57.60 57.80 57.90
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 49.40 49.50 49.10
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 49.90 50.20 50.10
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 41.70 42.30 42.40
7. การออมเงิน 40.50 41.00 41.00
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 39.70 39.80 39.90
9. การลดลงของหนี้สิน 47.80 47.90 48.10
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 43.10 43.40 44.20
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 40.70 40.60 40.40
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 35.50 35.30 35.30
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 34.20 34.90 35.20
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 44.30 44.60 44.80

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนกุมภาพันธ์ 2566 (44.80)  ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2566 (44.60) และเดือนธันวาคม 2565 (44.30) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครอบครัว ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ การลดลงของหนี้สิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่  การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีปัจจัยหนุนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานและรายได้ในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบของประเทศจีนในช่วงต้นปี ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาท่องเที่ยวในไทยเร็วขึ้น และนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ออกเดินทางกลุ่มแรกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและกลุ่มคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจากชาติอื่น ๆ ที่เดินทางมาไทยก็มีแนวโน้มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ความต้องการท่องเที่ยวของคนทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาคใต้ของประเทศไทยนับเป็นจุดหมายปลายทางแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจ ซึ่งการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจโรงแรม สายการบิน บริษัททัวร์ รถเช่า สถานที่และกิจกรรมท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร และสปา รวมถึงบริการทางการแพทย์ ซึ่งส่งผลให้การจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการและแรงงานของธุรกิจเหล่านี้ปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนการบริโภคของภาคเอกชนก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกนั้น ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว บริการ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดควรเตรียมความพร้อม และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวให้เพียงพอต่อจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึงสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าและบริการให้มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว โดยพิจารณา 4 แนวทางที่สำคัญ ดังนี้  

1) การเตรียมความพร้อมขยายขีดความสามารถในการให้บริการเพื่อบรรเทาปัญหาภาวะคอขวด ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายในช่วงที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวและขยายขีดความสามารถการบริการ เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการได้อย่างเพียงพอ ได้แก่ การเปิดบริการห้องพักโรงแรม การเพิ่มจำนวนรถที่ให้บริการขนส่ง การเพิ่มพนักงานที่ให้บริการในร้านค้าและร้านอาหาร

2) การยกระดับสินค้าและบริการให้มีคุณภาพที่ดีและมีความน่าสนใจ ทั้งมาตรฐานของสินค้าและบริการ รูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ราคาที่เหมาะสมและคุ้มค่าในการซื้อ และช่องทางการจ่ายเงินที่หลากหลายรวมถึงการกำหนดรูปแบบการรองรับนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศอย่างเหมาะสม  เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว อันจะนำไปสู่การเข้ามาท่องเที่ยวซ้ำและแนะนำบอกต่อในทางบวก     

3) การกำหนดแพ็กเกจการให้บริการท่องเที่ยวแบบครบวงจรในราคาที่เหมาะสม เพื่อรองรับแนวโน้มการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เน้นการท่องเที่ยวเพื่อสร้างประสบการณ์ อีกทั้ง การออกแบบแพ็กเกจที่นำเสนอต่อนักท่องเที่ยว ควรมีความยืดหยุ่นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน

4) การโปรโมทผ่านสื่อสังคมออนไลน์และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง พร้อมทั้งสร้างช่องทางการขายออนไลน์จะช่วยส่งเสริมให้สินค้าและบริการเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในวงกว้าง สามารถเข้าถึงได้ง่าย และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้เกิดกับนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น  แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

  1. การเลือกตั้งรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ประชาชนได้มีการติดตามการเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งการสังกัดพรรคการเมืองและนโยบายหาเสียงที่สร้างความหวังให้กับประชาชนหากชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งนี้ ประชาชนต้องการให้พรรคการเมืองที่มีโอกาสได้เข้าไปบริหารประเทศได้ดำเนินโนบายตามที่หาเสียง โดยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
  2. ประชาชนมีความกังวลกับราคาสินค้าและบริการที่มีราคาสูงขึ้น และมีค่าครองชีพเพิ่มขึ้น โดยครัวเรือนส่วนมากยังมองว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงขึ้น ค่าสาธารณูปโภค ไฟฟ้า และบริการสาธารณะ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ ประชาชนต้องการให้ภาครัฐหาวิธีในการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง  กลุ่มผู้ใช้แรงงาน  กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มมนุษย์เงินเดือน  เป็นต้น
  3. รัฐบาลควรมีมาตรการส่งเสริม สนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยการให้เศรษฐกิจขยายตัวไปในทุกพื้นที่ของประเทศ และทุกภาคส่วนธุรกิจ

                ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.10 และ 35.80  ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 37.40 และ 34.10  ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.20 32.90 และ 31.30  ตามลำดับ

                สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการโดยเร่งด่วน คือ 1) การช่วยลดค่าครองชีพ อาทิ ลดค่าสาธารณูปโภค และบริการสาธารณะ และ 2) การปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมาย อาทิ การพนันออนไลน์  การค้ายาเสพติด  ในส่วนของปัญหาที่ประชาชนต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ  คือ 1) การช่วยเหลือค่าครองชีพ อาทิ โครงการคนละครึ่ง  การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และ 2) การช่วยเหลือภาระหนี้สินแก่กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอย  นอกจากนี้ ความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ทำในอนาคต คือ 1) การเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุเดือนละ 5,000 บาท  2) การนำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้ทดแทน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และ 3) การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจทั้งระบบ อีกทั้ง การไม่ให้ตำรวจมีอำนาจในการปรับและเรียกรับเงินเข้าหน่วยงานตำรวจโดยตรง

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics