กฟผ. ขานรับนโยบายภาครัฐรับมือวิกฤตพลังงาน เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากผู้ผลิตรายเล็ก

กฟผ. ขานรับนโยบายภาครัฐรับมือวิกฤตพลังงาน เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากผู้ผลิตรายเล็ก
Spread the love

 

กฟผ. ขานรับนโยบายภาครัฐรับมือวิกฤตพลังงาน เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากผู้ผลิตรายเล็กที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

พร้อมเร่งนำเข้า Spot LNG ทดแทนน้ำมันช่วงราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูง

กฟผ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากผู้ผลิตรายเล็ก หวังผนึกกำลังฝ่าวิกฤตพลังงาน พร้อมเดินหน้านำเข้า Spot LNG 2 ลำเรือ ตามมติ กกพ. ภายในเดือน เม.ย.-พ.ค. 65 ทดแทนน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าช่วงราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง เพื่อรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน

นายกิตติ  เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะประธานศูนย์ติดตามสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานของ กฟผ. เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตพลังงานโลกยังทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ จึงได้ดำเนินการตามมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน พ.ศ. 2565 โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 กฟผ. ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เฉพาะรายที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จึงถือเป็นความร่วมมืออันดีระหว่างภาครัฐและผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤตพลังงานของประเทศครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าจากต่างประเทศลงได้ และยังช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาเศษชานอ้อย เนื่องจากเกษตรกรหันมาขายเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าแทน

“นอกจากนี้ กฟผ. จะเร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รูปแบบตลาดจร (Spot) จำนวน 2 ลำเรือ ในช่วงเดือน เมษายน – พฤษภาคม 2565 ตามมติ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 16/2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีปริมาณนำเข้าประมาณ 65,000 ตันต่อลำเรือ เพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาสำหรับผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 7 ปี บวกกับการคาดการณ์ความสามารถ ในการจัดส่งน้ำมันของผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ของกรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งคาดการณ์ว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีปริมาณน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งการจัดหา LNG ครั้งนี้ จะช่วยเสริมความมั่นคงระบบพลังงานของประเทศ และทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลดลงประมาณ 500 ล้านบาทเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น”

กฟผ. ขานรับนโยบายภาครัฐรับมือวิกฤตพลังงาน เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากผู้ผลิตรายเล็ก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาล กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่ โดยให้ กฟผ. เร่งดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระค่าเชื้อเพลิง อาทิ ปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า กฟผ. มาใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ทดแทนก๊าซฯ ในช่วงราคาก๊าซฯ ในตลาดโลกพุ่งสูง โดยระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 – มีนาคม 2565 สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ 437.50 ล้านบาท และเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ออกจากระบบไปก่อน 1 ปี โดยระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ 3,162.41 ล้านบาท รวมทั้งยังได้รับภาระค่าไฟฟ้าเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิง ตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 จนถึงงวดเดือนเมษายน 2565 แทนประชาชนเป็นการชั่วคราว ประมาณ 60,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด ทำให้ กฟผ. ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จำเป็นต้องกู้เงินมาลงทุนแล้ว 25,000 ล้านบาท

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics