ป้อมพระสุเมรุ (Phra Sumen Fort) ป้อมปราการสีขาวที่ตั้งโดดเด่นอยู่ภายในบริเวณสวนสันติชัยปราการ ริมถนนพระอาทิตย์แห่งนี้เป็นป้อมปราการที่สร้างมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถือเป็น 1 ใน 2 ป้อมของฝั่งพระนครที่ยังคงหลงเหลือให้ได้ชมอยู่ในปัจจุบันป้อมพระสุเมรุ เป็นป้อมปราการที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ในสมัยนั้นได้มีการสร้างป้อมปราการ 14 แห่งเพื่อป้องกันพระนคร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ป้อมปราการหมดความจำเป็น จึงถูกรื้อถอนไป ป้อมพระสุเมรุเป็น 1 ใน 2 ป้อมที่ยังคงเหลืออยู่ อีกป้อมหนึ่งคือป้อมมหากาฬ ชื่อป้อมพระสุเมรุได้นำมาตั้งเป็นชื่อถนนพระสุเมรุ
ป้อมพระสุเมรุ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยในสมัยนั้นได้มีการสร้างป้อมปราการทั้งหมด 14 แห่งเพื่อป้องกันพระนครจากการรุกรานของข้าศึก ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2326 มีชาวเขมร 10,000 คน มาขุดคลองเชื่อมระหว่างคลองบางลำภูกับคลองโอ่งอ่าง จนจรดต่อกันเกิดเป็นคลองรอบกรุงทว่าเมื่อเวลาผ่านไปและป้อมปราการต่างๆ หมดความจำเป็นจึงถูกรื้อถอนไปเกือบทั้งหมด จะเหลือก็เพียงแต่ป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬ ที่ยังคงเหลืออยู่ โดยต่อมาชื่อป้อมพระสุเมรุก็ได้นำมาตั้งเป็นชื่อถนนพระสุเมรุด้วย
ป้อมพระสุเมรุมีลักษณะสวยงามและเป็นประโยชน์ใช้สอย มีเชิงเทิน ช่องยิงปืน ห้องเก็บกระสุนดินดำ และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ โดยยังคงมีแนวประตูยอดและกำแพงเมืองบริเวณด้านเหนือตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร โดยต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2524 กรมศิลปากรได้บูรณะครั้งใหญ่ตามรูปแบบเดิมจากภาพถ่ายให้มีลักษณะเป็นประตูเมืองตามแบบในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นประตูยอด แตกต่างจากประตูดั้งเดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นไม้ทาดินแดง และประตูก่ออิฐข้างบนซึ่งใช้เป็นหอรบในสมัยรัชกาลที่ 3
การอนุรักษ์ป้อมพระสุเมรุมีขึ้นอีกครั้งโดยกรมศิลปากร เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ครั้งนี้ยังได้ปรับปรุงพื้นที่จากแต่เดิมที่เป็นโกดังสินค้าของบริษัทศรีมหาราชาและบ้านเรือนชุมชนที่รุกล้ำโดยรอบ สำหรับสร้างสวนสาธารณะ และพระที่นั่งสันติชัยปราการ เพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ในโอกาสทอดพระเนตรกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคในพระราชพิธีดังกล่าวอีกด้วย ปัจจุบันป้อมพระสุเมรุและสวนสันติชัยปราการมิได้เป็นเพียงโบราณสถานและสวนสาธารณะ แต่ยังเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่สำคัญต่อชุมชนย่านบางลำพู เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การตักบาตร การทำบุญประจำปี การอัญเชิญพระพุทธบางลำพูประชานาถเพื่อให้ชาวชุมชนบางลำพูและประชาชนทั่วไปร่วมสรงน้ำเนื่องในประเพณีสงกรานต์ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ยังใช้พื้นที่แห่งนี้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ป้อมพระสุเมรุยังคงเป็นหมุดหมาย (Landmark)ของชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในย่านบางลำพู
การตั้งชื่อป้อมปราการรอบพระนครนั้น สันนิษฐานว่าสัมพันธ์กับคติจักรวาลวิทยา เรื่องระบบไตรภูมิ กล่าวคือ อิสินธรและยุคนธร เป็นชื่อของทิวเขาสัตตบริภัณฑ์ โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ส่วนพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นองค์ประกอบสำคัญในจักรวาล ซึ่งสอดคล้องกับระบบการวางผังเมืองในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยสะท้อนผ่านการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ อันมีป้อมปราการ ประตูและกำแพงเปรียบเสมือนขอบกำแพงจักรวาล
ชื่อของป้อมพระสุเมรุยังได้นำมาตั้งเป็นชื่อถนนซึ่งเชื่อมต่อจากถนนพระอาทิตย์สิ้นสุดที่ป้อมมหากาฬ เฉกเช่นเดียวกับถนนพระอาทิตย์ที่เชื่อมระหว่างป้อมพระอาทิตย์และป้อมพระจันทร์ นอกจากนี้ถนนพระสุเมรุยังเป็นถนนสายเดียวของเกาะรัตนโกสินทร์ที่ยังคงเหลือแนวประตูและกำแพงเมืองพระนครอยู่ ซึ่งบูรณะในคราวเดียวกับป้อมพระสุเมรุอีกด้วย
ลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรม
ป้อมพระสุเมรุ มีลักษณะเป็นป้อมรูปแปดเหลี่ยมด้านเท่า 3 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ยาวด้านละ 3 เมตร สูง 19 เมตร ส่วนฐานรากของป้อมและกำแพงเป็นฐานแผ่อยู่ต่ำกว่าระดับผิวดิน 2 เมตร ความยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ กว้าง 45 เมตร มีบันไดขึ้นป้อมจากด้านในกำแพง จำนวน 3 แห่ง โดยมีเชิงเทินและแผงบังปืนตั้งอยู่บนฐานสูง 2 ชั้นแรก ตัวป้อมมีขนาดพื้นที่ประมาณ 200 ตารางวา
ฐานชั้นที่ 1 ยาวด้านละ 11.50 เมตร สูง 2.50 เมตร มีบันไดขึ้นจากพื้นดินได้ 2 ทาง เสามุมบันไดเป็นเสาปูน หัวเสาเป็นรูปหัวเม็ดทรงมัณฑ์ มีทางเดินได้โดยรอบในฐานชั้นนี้ และจากฐานชั้นที่ 1 มีบันไดปูน ขึ้นไปยังฐานชั้นที่ 1 กำแพงรอบฐานชั้นนี้ทำเป็นรูปใบเสมาชนิดเหลี่ยมขนาดใหญ่ แต่ละเสมาเจาะช่องตีนกาหรือกากบาทขนาดเล็กหลายช่อง
ฐานชั้นที่ 2 ยาวด้านละ 4.50 เมตร สูง 10 เมตร กำแพงรอบฐานชั้นนี้ทำเป็นรูปใบเสมาชนิดปลายแหลม ต่ำจากใบเสมาลงมาเจาะเป็นช่องโค้งปลายแหลม (Pointed arch) ด้านละ 4 ช่อง และมีช่องตีนกาขนาดเล็กเรียงสับหว่างกัน 3 แถว ในฐานชั้นนี้มีการก่อผนังออกเป็นห้องรวมจำนวน 38 ห้อง สำหรับเก็บอาวุธและกระสุนดินดำ โดยระหว่างฐานป้อมชั้นที่ 1 และ 2 มีกำแพงใบเสมาชนิดปลายแหลมกั้น
ฐานชั้นที่ 3 เป็นหอรบรูปเจ็ดเหลี่ยม ยาวด้านละ 3 เมตร สูง 19 เมตร หลังคาป้อมเป็นโครงไม้ฉาบปูนเช่นเดียวกับป้อมมหากาฬ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนป้อมพระสุเมรุเป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 66 ตอนที่ 64 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2492
🛕 🌳 🌾
Cr ข้อมูลและภาพประกอบบางส่วนจาก Thailand Heritage by Perseus 14th
Cr ภาพประกอบเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต (ขอบคุณเจ้าของภาพ)
Posted by Onnie 🦋