21 มิ.ย. 64 วันครีษมายัน กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี

21 มิ.ย. 64 วันครีษมายัน กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี
Spread the love

21 มิ.ย. 64 วันครีษมายัน กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี

เชิญชวนโรงเรียนทั่วไทยจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน

 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย 21 มิถุนายน 2564 เป็นวัน “ครีษมายัน” เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี เชิญชวนโรงเรียนทั่วประเทศจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน “หาขนาดของโลกด้วยวิธี Eratosthenes” และส่งภาพกิจกรรมเข้าร่วมประกวด ลุ้นรับชุดสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์

21 มิ.ย. 64 วันครีษมายัน กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี

 

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า วันที่ 21 มิถุนายน 2564 เป็น “วันครีษมายัน” (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด สำหรับประเทศไทย ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 05:51 น. ตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18:47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึง 12 ชั่วโมง 56 นาที จึงเป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศทางซีกโลกใต้ 

 

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลางวัน กลางคืน เกิดจากโลกหมุนรอบตัวเอง ในขณะเดียวกันโลกก็ โคจรรอบดวงอาทิตย์ แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับแกนตั้งฉากกับระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้บริเวณต่าง ๆ ของโลกในแต่ละช่วงของปีได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ส่งผลให้เกิดเป็นฤดูกาลบนโลก

 

ในระยะเวลา 1 ปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น – ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ วันครีษมายัน วันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน 

 

นอกจากนี้ ในวันที่ 21 มิถุนายน 2564 สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) ยังกำหนดให้เป็น วันดาราศาสตร์ในโรงเรียนประจำปี 2564 (Astronomy Day in School) สดร. จึงขอเชิญชวนโรงเรียนเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ และโรงเรียนที่สนใจ ร่วมจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ “หาขนาดของโลกด้วยวิธีของ Eratosthenes” และส่งภาพกิจกรรมเข้าร่วมประกวด ลุ้นรับชุดสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ แบ่งออกเป็น ประเภทกิจกรรมการหาขนาดของโลก 10 รางวัล ประเภทภาพถ่ายความคิดสร้างสรรค์ 10 รางวัล และ Popular Vote 10 รางวัล อ่านรายละเอียดการจัดกิจกรรมเพิ่มเติม และสมัครร่วมกิจกรรมได้ทาง http://bit.ly/NARIT-AstronomyDayInSchools2021_TH ตั้งแต่บัดนี้ – 22 มิถุนายน 2564 สอบถาม โทร. 053-121 268 ต่อ 305 

ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของทุกท่าน ดำเนินการจัดกิจกรรมพร้อมมาตรการด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics